สคร. ขานรับนโยบายรัฐบาล “พัฒนารัฐวิสาหกิจให้เติบโต เข้มแข็ง” นำ EVA มาใช้ประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจ

08 Dec 2005

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--ออนโกอิง เวิร์ค

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขานรับนโยบายรัฐบาล เร่งเสริมความแข็งแกร่งให้รัฐวิสาหกิจไทย “อยู่รอด-แข่งขันได้-เติบโต” พร้อมอัพเกรดคุณภาพการบริการของรัฐวิสาหกิจเพื่อประชาชน นำเกณฑ์การวัดผล “EVA” มาใช้

มุ่งเป้าภายในปี 49 กับรัฐวิสาหกิจให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

นายวิชัย จึงรักเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายหลักไว้ประการหนึ่งว่า รัฐวิสาหกิจต้องเร่งพัฒนาคุณภาพการบริการให้ได้มาตรฐานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ทำให้รัฐวิสาหกิจไทยอยู่รอด ไม่ประสบภาวะขาดทุน และมีหนี้สะสมจนกลายเป็นภาระของรัฐและประชาชน และในอีกด้านหนึ่งรัฐวิสาหกิจต้องสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทรัพย์สินของชาติได้ โดยถือว่ารัฐวิสาหกิจเปรียบเสมือนเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ทรงพลังในการเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจของชาติให้เติบโตยิ่งขึ้นและเพื่อสนองนโยบายดังกล่าว สคร. จึงได้นำเกณฑ์การวัดผลที่เรียกว่า Economic Value Added หรือ EVA มาใช้กับรัฐวิสาหกิจไทย ทั้งนี้ได้มีการนำเกณฑ์การวัดผล EVA มาการใช้กันอย่างแพร่หลายและประสบความสำเร็จมาแล้วในองค์กรธุรกิจและรัฐวิสาหกิจในต่างประเทศ

สำหรับรัฐวิสาหกิจไทยนั้น ได้มีการนำเกณฑ์การวัดผล EVA มาใช้กับรัฐวิสาหกิจบางส่วน อาทิ บมจ. ปตท., บมจ. อสมท., บมจ. กฟผ. และ บมจ. การบินไทย เป็นต้น EVA หรือ Economic Value Added คือ เกณฑ์การวัดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ขององค์กร โดยเป็นเกณฑ์การวัดผลกำไรหรือขาดทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่ผลกำไรหรือขาดทุนในเชิงบัญชี

EVA เป็นเกณฑ์การวัดผลการดำเนินงานที่ไม่ได้พิจารณาสิ้นสุดเพียงแค่ผลกำไรหรือขาดทุนสุทธิ (Net Profit หรือ Net Loss) เท่านั้น แต่จะพิจารณาลึกเข้าไปถึงผลกำไรหรือขาดทุนเมื่อหักจากต้นทุนค่าเสียโอกาสของผู้ถือหุ้น ซึ่งต้นทุนดังกล่าวมักจะเป็นต้นทุนที่ซ่อนอยู่และไม่ได้นำมาพิจารณาในเกณฑ์การวัดผลแบบอื่นๆ โดยสรุปแล้วหลักการของ EVA ก็คือการคำนวณรายได้ที่หักจากต้นทุนทั้งหมดอันได้แก่ ต้นทุนจากการดำเนินการ (เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนพนักงาน ภาษี) และต้นทุนของการใช้สินทรัพย์ (รวมต้นทุนจากผู้ให้กู้เงิน คือ ดอกเบี้ย และต้นทุนค่าเสียโอกาสของผู้ถือหุ้น)

“ต้นทุนค่าเสียโอกาสของผู้เป็นเจ้าของ” นั้น คำนวณคร่าวๆ ได้จากผลตอบแทนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด (เช่น พันธบัตรรัฐบาล) และ ค่าส่วนเกินความเสี่ยง (Risk Premium) ซึ่งคำนวณจากฐานค่าส่วนเกินของตลาด (Market Risk Premium) และสัมประสิทธิ์ความเสี่ยง (Beta) ของอุตสาหกรรมและความเสี่ยงจากโครงสร้างการเงินขององค์กร เป็นต้น

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็ดี ประชาชนหรือผู้ลงทุนก็ดี ต่างก็ได้รับประโยชน์จากการนำระบบเกณฑ์การวัดผล EVA มาใช้ เพราะ EVA ช่วยชี้ให้เห็นต้นทุนที่ไม่เคยนำมาใช้คำนวณมาก่อน เป็นการชี้ให้เห็นผลการดำเนินงานในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ลึกกว่า Net Profit หรือ Net Loss ผลที่เกิดขึ้นก็คือทำให้ผู้บริหารเห็นภาพผลการดำเนินงานที่กว้างกว่า เพื่อที่ผู้บริหารองค์กรนั้นๆ จะได้เร่งพัฒนาธุรกิจเพื่อให้ได้ EVA ที่เป็นบวก หรือถ้าเป็นบวกแล้วก็จะได้บวกมากขึ้น โดยการบริหารทรัพย์สิน และต้นทุนให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงสินค้าและบริการที่ดี แปลกๆ ใหม่ๆ ให้โดนใจตลาดและผู้บริโภค เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุด นั่นย่อมหมายถึงว่าประชาชนได้รับบริการที่ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ผู้บริหารองค์กรยังต้องพยายามบริหารทรัพย์สิน และทรัพยากรบุคลากรให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้องค์กรมีกำไรที่แท้จริง และนั่นย่อมนำมาซึ่งผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นให้กับ พนักงานและผู้ถือหุ้นด้วยเช่นกัน นายวิชัยกล่าวเสริมว่ารัฐวิสาหกิจบางส่วนได้นำเกณฑ์การวัดผล EVA มาใช้ระยะหนึ่งแล้ว เช่น ปตท. อสมท. และการบินไทย ซึ่งได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปลายปี 2544

มูลค่าตลาดแรกเริ่ม 99,999 ล้านบาท ปัจจุบัน ณ ปลายปี 2548 มีมูลค่าตลาด 615,340 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่ต่อเนื่องถึง 57% ต่อปี ทั้งนี้ สคร. ให้ความสำคัญกับการดูแล และประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิดและเป็นระบบ โดยมีการพัฒนาระบบประเมินผลอย่างต่อเนื่อง และนำระบบประเมินผลหลายๆ ระบบมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น Self Improvement, Benchmarking หรือ Balanced Scorecard รวมทั้งเกณฑ์การวัดผล EVA เพื่อให้ตอบสนองกับนโยบายและสถานการณ์ ที่สำคัญคือเพื่อให้ บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับเกณฑ์การวัดผล EVA นั้น สคร. คาดว่าภายในปี 2549 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายจะใช้มาตรฐานเกณฑ์การวัดผล EVA ได้เหมือนกันหมดทุกแห่ง

นายวิชัยกล่าวทิ้งท้ายว่าเมื่อได้เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมานั้น ตนได้กำหนดแนวทางการบริหาร สคร. ไว้ว่า สคร. จะต้องปรับบทบาท จากการเป็นหน่วยงานเชิงรับมาเป็นการทำงานเชิงรุก นั่นคือ เน้นการเสนอแนะ นโยบาย แผน และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มากขึ้น รวมทั้งการให้คำปรึกษา และให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ หรือด้านอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนารัฐวิสาหกิจทั้งหมด นอกจากนี้ยังเน้นนโยบายที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การสร้างระบบการทำงานแบบ “มิตรต่อมิตร” หรือ Partnership ให้เกิดขึ้นทั้งภายในองค์กร สคร. เอง และระหว่าง สคร. กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อให้ทุกๆ คน และทุกๆ ฝ่ายร่วมมือกันทำงานอย่างสร้างสรรค์ ไม่สร้างความรู้สึกว่าถูกควบคุม แทรกแซง แต่สร้างบรรยากาศของการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุดเมื่อเกิดปัญหา โดย สคร. จะสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมความเข้าใจในองค์กร และระหว่าง สคร. กับรัฐวิสาหกิจ เช่น การจัดกิจกรรมเสวนา พบปะกับรัฐวิสาหกิจต่างๆ เป็นระยะๆ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การปรับภาพลักษณ์ขององค์กรให้ดูทันสมัยและทำการประชาสัมพันธ์ไปยังรัฐวิสาหกิจและประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างความเข้าใจถึงบทบาท และหน้าที่ของ สคร. ก่อให้เกิดการยอมรับ รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นตามมา

สคร. หรือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดกระทรวงการคลัง โดยยกฐานะจาก “สำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 โดยมีภารกิจที่สำคัญในการเสนอแนวทาง มาตรการในการพัฒนา ปรับปรุง ดูแลนโยบาย สนับสนุน และติดตามการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจกว่า 60 หน่วยงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 9 สาขา ได้แก่สาขาพลังงาน สาขาขนส่ง สาขาการสื่อสาร สาขาสาธารณูปการ สาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตร และทรัพยากรธรรมชาติ สาขาพาณิชย์และการบริการ สาขาสังคมและเทคโนโลยี และสาขาการเงิน

รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

บริษัท ออนโกอิง เวิร์ค จำกัด

ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์

คุณวราภรณ์ เกียรติชัยวณิชย์

โทร. 0-2298-5808

โทรสาร 0-2298-5811

Kanokrat & Friends Co., Ltd

สรวงกนก จันทราสูงเนิน 02-284-2662 [email protected]จบ--