กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
ศาสตราจารย์ ด๊อกเตอร์ภักดี โพธิศิริ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่าจากกรณี ที่มีข่าวพบการแพร่หลายของปลาปักเป้าตามตลาด ร้านอาหาร ร้านหมูกระทะ และภัตตาคารทั่วไปนั้น ในเรื่องดังกล่าว อย.มิได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และยังคุมเข้ม ในการห้ามจำหน่ายปลาปักเป้าแก่ผู้บริโภค หากพบผู้ใดฝ่าฝืน จะถูกดำเนินคดีอย่างเข้มงวด มีโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ เดือนถึง ๒ ปี และปรับตั้งแต่ ๕,๐๐๐ - ๒๐,๐๐๐ บาท
ปลาปักเป้ามีชื่อเรียกตามท้องตลาดว่าปลาเนื้อไก่ มีหลายชนิดทั้งตามแหล่งน้ำจืดและน้ำทะเล เป็นปลาที่มีสารพิษ ชื่อว่า เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งพิษจะมีมากที่สุดในหนังปลา รองลงมาเป็นไข่ปลา เนื้อปลา ตับ และลำไส้ ตามลำดับ ผู้ที่ได้รับพิษจะมีอาการเกิดขึ้น หลังจากรับประทานประมาณ ๑๐ - ๔๕ นาที บางรายอาจนานถึง ๔ ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณของพิษที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไป โดยจะมีอาการชาที่ริมฝีปาก ลิ้น บริเวณใบหน้า ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายมีอาการรุนแรง ถึงขั้นกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หายใจไม่ออก ไม่รู้สึกตัว รูม่านตาขยายและไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หัวใจจะหยุดเต้น และเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น ผู้บริโภคจึงไม่ควร รับประทานเนื้อปลาปักเป้าโดยเด็ดขาด
ผู้บริโภคสามารถสังเกตลักษณะของเนื้อปลา หากเป็นเนื้อปลาปักเป้า จะมีลักษณะเหมือน สันในไก่ หรือคล้ายเนื้อไก่ส่วนอก เนื้อนูนไม่มีหนังปลาติดอยู่ ไม่มีลายเส้นเหมือนเนื้อปลาทั่วไป ส่วนมากมีวางขายเป็นเนื้อปลาล้วน ๆ วางเป็นกอง ๆ หรือแพ็คเป็นถุง ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม อย่าเห็นแก่ต้นทุนราคาถูก รับซื้อ ปลาปักเป้าอย่างผิดกฎหมายจากพ่อค้าคนกลาง และขอให้ประชาชนผู้บริโภคให้ความสำคัญในการ เลือกซื้อ เลือกรับประทานเนื้อปลา หลีก-เลี่ยงการซื้อเนื้อปลาที่แล่ขายเป็นกอง ๆ หรือแพ็คสำเร็จรูป โดยไม่ทราบชนิดของปลาที่ชัดเจน และสังเกตเนื้อปลาปักเป้าตามที่กล่าวข้างต้น หากพบเห็นขอให้ หลีกเลี่ยง และแจ้งกลับมาที่ อย.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อจะได้ลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายทันที
(เว็บไซต์ อย.)--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit