ฟิทช์ ได้ประกาศเครดิตพินิจ แนวโน้มเป็นบวก

01 Mar 2006

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์

ฟิทช์ ได้ประกาศเครดิตพินิจ แนวโน้มเป็นบวก (Rating Watch Positive) แก่อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ของบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง และคงอันดับเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศเครดิตพินิจ แนวโน้มเป็นบวก (Rating Watch Positive, “RWP”) แก่อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาว ของบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (“SPL”) ที่ระดับ ‘BBB+(tha)’ และระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’หลังจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ (“SCB”) ประกาศแผนการที่จะทำการเสนอซื้อหลักทรัพย์ (“tender offer”) ในส่วนที่ธนาคารไม่ได้ถือครอง คิดเป็นสัดส่วน 62.89% ใน SPL

ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้คงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของ SCB ที่ระดับ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’ อันดับเครดิตของชุดหุ้นกู้ระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha)) ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ เรทติ้ง สถาบันจัดอันดับเครดิตข้ามชาติ ได้คงอันดับเครดิตสกุลเงินตราต่างประเทศของบริษัท ระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสกุลเงินตราต่างประเทศของบริษัทระยะสั้น (Short-term Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) ที่ ‘F2’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศ ของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ระดับ ‘2’

ขณะนี้ SCB ได้ถือหุ้นในสัดส่วน 37.1% ใน SPL ระยะเวลาการเสนอซื้อหลักทรัพย์เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2549 ถึงวันที่ 28 เมษายน 2549 SCB อาจยกเลิกการเสนอซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวหากธนาคารถือหุ้นในสัดส่วนน้อยกว่า 75% ใน SPL ณ วันสิ้นสุดการเสนอซื้อหลักทรัพย์ ราคาในการทำการเสนอซื้อที่ 38 บาท นั้น สอดคล้องกับราคาตลาดของ SPL มูลค่าสูงที่สุดของการเสนอซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวอาจมีมูลค่าถึง 5.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราการรับซื้อ ฟิทช์ได้ตั้งข้อสังเกตว่ารายการดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสภาพคล่องและสถานะกองทุนของ SCB เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าที่สูงที่สุดของรายการดังกล่าวมีค่าเพียงประมาณ 5% ของสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องทั้งหมด หรือประมาณ 7% ของเงินกองทุนขั้นที่ 1 ณ สิ้นปี 2548 ของธนาคาร ถ้าการซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือของ SPL สำเร็จลุล่วง การที่ SPL มี SCB เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่น่าจะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของ SPL เนื่องมาจากความเป็นไปได้ที่จะได้รับการสนับสนุนในเชิงปฏิบัติการและในด้านการเงินจาก SCB ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

ในขณะที่ SCB ยังไม่ได้ชี้แจงถึงแผนการใดๆที่จะทำการเปลี่ยนแปลงแผนการหรือนโยบายในการดำเนินธุรกิจ จำนวนตัวแทนของ SCB ในคณะกรรมการธนาคารและคณะผู้บริหารน่าจะเพิ่มขึ้นในกรณีที่ธนาคารมีสัดส่วนการถือหุ้นที่สูงพอที่จะควบคุมการบริหารงานได้ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และแหล่งเงินกู้ของผู้บริโภคที่เข้าถึงง่ายขึ้น ได้ช่วยสนับสนุนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของ SPL แม้ว่าการเติบโตอาจจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในระยะปานกลาง อัตราการใช้สินเชื่อของผู้บริโภคที่ต่ำของประเทศไทย การถือครองยานยนต์ที่ต่ำ และการเติบโตของจำนวนชนชั้นกลาง น่าจะช่วยสนับสนุนให้ SPL มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ ในปี 2548 รายได้จาก SPL คิดเป็นมูลค่าน้อยกว่า 2% ของกำไรสุทธิของ SCB การถือหุ้นหลักใน SPL น่าจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับผลกำไรของ SCB ในระยะปานกลาง อีกทั้งช่วยเพิ่มเครือข่ายลูกค้ารายย่อยของธนาคาร และช่วยให้ธนาคารสามารถดูแลนโยบายสินเชื่อและการดำเนินงานของ SPL ได้มากขึ้น

หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้

คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

ติดต่อ

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์,

Vincent Milton, กรุงเทพฯ

+662 655 4762/4759

David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963--จบ--