ก.ล.ต. สั่งให้ EWC และ SGF เปิดเผยข้อมูลการให้กู้ยืมระหว่างกัน และการที่ SGF นำเงินไปให้กู้ยืมต่อ

27 Mar 2006

กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--ก.ล.ต.

ก.ล.ต. ได้สั่งการให้บริษัท อีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน) (“EWC”) และ บริษัท สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) (“SGF”) เปิดเผยข้อมูลการให้กู้ยืมระหว่างกัน ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2549 หลังพบว่า SGF นำเงินไปให้กู้ต่อแก่ลูกหนี้รายเดียวกับที่ EWC เคยให้กู้ยืมโดยตรงในอดีต ประกอบกับการชี้แจง ของทั้ง EWC และ SGF ที่ผ่านมา ก็ยังมีความคลุมเครือไม่ชัดเจนว่า ความเสี่ยงของการกู้ยืมอยู่ที่ EWC หรือ SGF สืบเนื่องจากความไม่ชัดเจนของการชี้แจงข้อมูลของ EWC และ SGF เกี่ยวกับการให้กู้ยืมระหว่างกัน ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขการชำระหนี้ ตลอดจนการนำเงินดังกล่าวไปให้กู้ยืมต่อของ SGF

ก.ล.ต. จึงได้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม และเมื่อรวมกับข้อมูลที่เปิดเผยอยู่แล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้

เมื่อวันที่ 15 และ 16 ธันวาคม 2548 EWC ได้ให้ SGF กู้ยืมเงินในรูปตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน

รวม 500 ล้านบาท โดยเมื่อครบกำหนด SGF จะชำระคืนเป็นเงินสดหรือโอนสิทธิเรียกร้อง

ในลูกหนี้ใด ๆ ของ SGF ให้แก่ EWC ก็ได้

การให้กู้ยืมของ EWC แก่ SGF เป็นการอนุมัติโดยกรรมการ 2 ราย และที่ประชุมคณะกรรมการ EWC รับทราบรายการดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2548 โดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบไม่เห็นด้วยกับการให้กู้ยืมเนื่องจากมีความเสี่ยงสูง และให้ EWC หาวิธีการลดความเสี่ยง แต่ EWC ยังคงทำรายการให้กู้ยืมแก่ SGF ต่อไปอีกในวันที่ 16 ธันวาคม 2548 และต่อมา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2548 ที่ประชุมคณะกรรมการ EWC มีมติให้ EWC ดำเนินการให้ธนาคารพาณิชย์ค้ำประกันตั๋วสัญญาใช้เงินของ SGF แต่ SGF และ EWC เห็นร่วมกันว่าไม่สามารถดำเนินการได้

ผู้สอบบัญชีของ EWC แสดงความเห็นว่า เงื่อนไขการชำระหนี้ข้างต้นทำให้ EWC มีความเสี่ยงในการได้รับเงินคืน เนื่องจากไม่สามารถควบคุมคุณภาพของลูกหนี้ที่ต้องรับโอนได้

หลังจากที่ SGF ได้เงินกู้จาก EWC แล้ว ในวันที่ 16 20 และ 21 ธันวาคม 2548 SGF ได้ให้กู้แก่ ลูกหนี้จำนวนหนึ่ง โดยมูลค่ารวมที่ให้กู้เท่ากับจำนวนเงินที่กู้มาจาก EWC และลูกหนี้ดังกล่าวบางรายเป็นรายเดียวกับลูกหนี้ที่ EWC เคยให้กู้ยืมเงินหรือเคยมีเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าให้

โดยไม่ได้รับสินค้า ในช่วงไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 3 ของปี 2548

การให้กู้แก่ลูกหนี้ข้างต้นของ SGF แตกต่างจากลูกหนี้รายอื่น กล่าวคือ ลูกหนี้ส่วนใหญ่ของ SGF กู้ยืมเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท และเป็นลักษณะแฟคตอริ่ง ในขณะที่ SGF ให้กู้ยืมแก่ลูกหนี้

ข้างต้นเป็นจำนวนเงินที่สูงเมื่อเทียบกับฐานะการเงิน โดยมีเพียงบุคคลค้ำประกัน จากข้อเท็จจริงข้างต้น ก.ล.ต. จึงเห็นว่า ข้อมูลยังมีความคลุมเครือไม่ชัดเจนว่า ความเสี่ยงในการกู้ยืมระหว่างกันอยู่ที่ EWC หรือ SGF เนื่องจาก EWC อาจต้องรับความเสี่ยงถ้าไม่สามารถเลือกลูกหนี้ที่ต้องรับโอนได้ ในขณะที่ SGF มีความเสี่ยงจากการนำเงินกู้จาก EWC ไปให้กู้แก่ลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ การที่ EWC ให้กู้ยืมแก่ SGF ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมของ EWC (29% ของสินทรัพย์รวม) ทั้งที่ธุรกิจปกติของ EWC มิใช่สถาบันการเงิน จึงเป็นเรื่องผิดปกติที่ EWC มีสินทรัพย์หลักเป็นเงินให้สินเชื่อ ก.ล.ต. จึงสั่งการให้คณะกรรมการของทั้งสองบริษัทชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอน การวิเคราะห์ และเหตุผลของการให้กู้ยืมระหว่างกัน เงื่อนไขหรือข้อตกลงอื่นเกี่ยวกับการให้กู้ยืมระหว่างกัน เงื่อนไขการโอนสิทธิเรียกร้องในลูกหนี้เพื่อการชำระหนี้ระหว่างกัน และรายชื่อพร้อมทั้งรายละเอียดของลูกหนี้ที่ SGF ให้กู้ในวงเงินที่สูงซึ่งต่างจากการให้กู้แก่ลูกหนี้ทั่วไป โดยให้ส่งให้ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2549 และให้เปิดเผยข้อมูลที่ชี้แจงต่อ ก.ล.ต. ผ่านระบบเปิดเผยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อให้ผู้ลงทุนทั่วไปได้รับทราบภายในวันเดียวกันด้วย