กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--สสวท.
นางสาวสุชานัน ม่วงไทย ชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและกัมมันตภาพแบบสามมิติของตัวยับยั้งเอนไซม์ การถ่ายแบบเอชไอวี 1 ในกลุ่มของสารอนุพันธ์ไพราซิโนน โดยมีอาจารย์สุภา หารหนองบัว ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างในสามมิติกับกัมตภาพการยับยั้งเอนไซม์การถ่ายแบบเอชไอวี-1 โดยวิธีสนามโมเลกุลเชิงเปรียบเทียบของอนุพันธ์ของไพราซิโนน จำนวน 24 โมเลกุล ซึ่งเป็นตัวยับยั้งเอนไซม์การถ่ายแบบเอชไอวี-1 โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ Training set จำนวน 20 โมเลกุล และ Test set จำนวน 4 โมเลกุล โดยอาศัยการคำนวณทางเคมีควอนตัม ด้วยระเบียบวิธีแบบอินิโอ และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างในสามมิติกับการยับยั้ง โดยพิจารณาอันตรกิริยาแบบสเตอริก และอิเล็กโตรสแตติก โดยใช้การวางทับแบบ Superimposition จากการทดลองนี้ได้แบบจำลองคอมฟาที่ดีที่สุดที่ให้ค่าความสามารถในการทำนาย(r2 cv) มีค่า 0.742 ทั้งนี้พบว่าอันตรกิริยาแบบสเตอริกจัดเป็นกิริยาหลักของตัวยับยั้ง(66.4%) โดยแผนภาพคอมฟาคอนทัวร์จะแสดงให้เห็นถึงอันตรกิริยาทางสเตอริกและอิเล็ก โตรสแตติกของตัวยับยั้งที่มีผลต่อการยับยั้งการทำงาน ของเอนไซม์การถ่ายแบบเอชไอวี-1 และยังได้นำไปใช้เป็นแนวทางการทำนายโครงสร้างของตัวยับยั้งที่มีกัมมันตภาพสูงต่อไป
นายศุภณัฐ เขียวพันธุ์ ชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สังเคราะห์อนุพันธ์ของไทรามีนเพื่อยับยั้งเชื้อ HIV-1 โดยมี อาจารย์งามผ่อง คงคาทิพย์ และอาจารย์บุญส่ง คงคาทิพย์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์(NPOS) ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษา พบว่า การสังเคราะห์ feruloyl tyramine(1) ซึ่งแยกได้จากต้นบอระเพ็ดและอนุพันธ์(2) ทำได้สำเร็จโดยใช้ปฏิกิริยาการ coupling ระหว่าง p-feruloic acid กับ tyramine และ p-coumaric aoid กับ 2-phenethylamine พบว่าได้ผลิตผลเป็นอนุพันธ์ของไทรามีน ดังกล่าว โดยมีเปอร์เซ็นต์ผลิตผลที่ดี จากการทดสอบโดยวิธี syncytium as say พบว่า สารเหล่านี้ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV-1
นางสาวเพ็ญธนา สมานพันธุ์ ชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สกัดและแยกสารออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV-1 จากบอระเพ็ด อาจารย์งามผ่อง คงคาทิพย์ และ อาจารย์บุญส่ง คงคาทิพย์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ (NPOS) ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษา งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับสารสกัดและแยกสมุนไพรบอระเพ็ด โดยนำลำต้นระเพ็ด แห้งบดละเอียดสกัดด้วยตัวทำละลายเฮกเชน ไดคลอโรมีเทน เอทิลอะซิเตต และเอทานอน พร้อมทั้งทดสอบการออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV-1 พบว่าสารสกัดหยาบด้วยตัวทำละลายทั้ง 4 ชนิดออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV-1 โดยเฉพาะ สารสกัดหยาบด้วยไดคลอไรมีเทนจึงนำมาแยกด้วยวิธี Vacuum Liquid Chromatography(VLC) และแยกสารให้บริษัทธิ์ด้วยวิธี Column Chromatography(CC)ได้สารบริสุทธิ์ N-p-trans-feruloyltyramine ในปริมาณ 0.02394% ของน้ำหนักพืชแห้ง สารนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV-1 มีค่า EC50=88.7 ug/ml และค่า IC25>125up/ml ดังนั้น จึงมีค่า Therapeutic Index(IT)>1.4
ทั้งนี้ผลงานดังกล่าว จะนำเสนอในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี "วิทยาศาสตร์เพื่อเยาวชน" ระหว่างวันที่ 14-15 มีนาคม 2549 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมประชุมไบเทค บางนา กรุงเพทมหานคร ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง 3 วัย...นักวิทย์กับชีวิตงานวิจัยการบรรยายและจัดแสดงผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กว่าสี่ร้อยหัวข้อจากนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก และนักวิทยาศาสตร์ไทยในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(พสวท.) และ โครงการอื่นๆ และนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวได้ โดยคลิกไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ www.ipst.ac.th/dpst