กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--เจโทร
จากรายงานสำรวจความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์อาเซียนเชิงเปรียบเทียบกับประเทศจีนและอินเดียขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร พบว่า ประเทศในอาเซียนจำเป็นจะต้องลดต้นทุนเพื่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากมีจุดอ่อนในด้านอัตราส่วนต้นทุนของวัตถุดิบที่ยังคงสูงอยู่ แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าในด้านการผลิตและการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะการใช้เหล็กและพลาสติกแล้วก็ตาม นอกจากนี้การเพิ่มประสิทธิภาพของแม่พิมพ์ Mould and Die และเครื่องจักรกลด้วยการยกระดับและใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น รวมถึงการรักษาระดับความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนจากแรงงานที่มีฝีมือ จะช่วยให้อาเซียนสามารถคงความแข็งแกร่งในด้านการแข่งขันเหนือจีนและอินเดียได้
ประเทศในกลุ่มอาเซียนควรที่จะปรับปรุงและสร้างความแข็งแกร่งด้านวิศวกรรมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจะก่อให้เกิดผลดีในด้านต่างๆ เช่น เครื่องมือการผลิตที่จะดีขึ้น ระยะเวลาการผลิตที่จะสั้นลง และคุณภาพของการผลิตที่จะสูงขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลต่อความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตในระยะยาว โอกาสที่ดีสำหรับกลุ่มประเทศอาเชียนนั้นกล่าวกันว่าขึ้นอยู่กับความพยายามที่จะทำให้เกิดข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคและศักยภาพการขยายตลาดเข้าสู่ประเทศจีนและอินเดีย
“งาน ASEAN Auto Supporting Industry Conference ครั้งที่ 5 เป็นงานที่มีลักษณะพิเศษ และแตกต่างจากงานประชุมครั้งที่ผ่านๆ มา ด้วยว่างานในครั้งนี้จะให้ความสำคัญกับการสัมมนามากกว่าการแสดงนิทรรศการชิ้นส่วนรถยนต์ บทบาทของเจโทรในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ระดับอาเซียน คือการปรับปรุงคุณภาพและความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในระดับท้องถิ่น โดยการพัฒนา “ระบบรับรองความสามารถบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์” หรือ “Skill Certification System for Automotive Industry” และการยกระดับทรัพยากรบุคคลในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับท้องถิ่นด้วยการจัดให้มี “ศูนย์ฝึกอบรม Training of the Trainers” จากแนวทางดังกล่าว เจโทรตั้งเป้าหมายที่จะรวมกลุ่มตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงบัดนี้ เจโทรและเจโอดีซี (JODC) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์มากกว่า 70 คนเพื่อดำเนินโปรแกรม “การปรับปรุง คุณภาพ ต้นทุน และ การส่งมอบ (Quality, Cost, Delivery (QCD))” ในภูมิภาคนี้” นายคุนิโอะ สุมิโยชิ รองประธานบริหาร เจโทร สำนักงานใหญ่ กล่าว
ในรายงานยังเปิดเผยถึงรายละเอียดของจุดแข็ง จุดอ่อน อุปสรรคและโอกาสของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย ตัวอย่างเช่นประเทศไทยที่มีความเป็นผู้นำด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยานยนต์ วิศวกรรม และระบบการผลิตในเกือบทุกชิ้นส่วนซึ่งเป็นผลมาจากการสร้างสมพื้นฐานของเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากผู้ผลิตรถยนต์และซัพพลายเออร์ระดับโลก ในขณะที่มาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันน้อยกว่าไทย อย่างไรก็ดี ประเทศมาเลเซียมีจุดแข็งในด้านวิศวกรรม เนื่องจากหลายบริษัทในประเทศนี้ มีแผนกวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) และได้มีการลงทุนในการเพิ่มศักยภาพของส่วนนี้มากเป็นพิเศษ สำหรับประเทศฟิลิปปินส์นั้น โรงงานมีกำลังการผลิตเหลือเฟือเนื่องจากตลาดรถยนต์นั้นซบเซา อย่างไรก็ดีประเทศนี้ก็ยังคงเป็นประเทศที่มีข้อได้เปรียบในงานแม่พิมพ์ Mould and Die สำหรับประเทศอินโดนีเซีย ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนแรงงานถูกกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค แต่สืบเนื่องจากปริมาณความต้องการที่ต่ำและต้นทุนวัตถุดิบที่สูง ประเทศนี้จึงอยู่ในตำแหน่งที่เสียเปรียบเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน
“นอกเหนือไปจากข้อมูลอันเป็นประโยชน์ข้างต้นแล้ว ประเทศในกลุ่มเอเชียนที่เข้าร่วมงานจะได้เรียนรู้จากการประชุมถึงเรื่องการอยู่รอดและเอาชนะในเชิงธุรกิจเนื่องจากจะได้รับฟังการนำเสนอภาพรวมและแนวโน้มของตลาดยานยนต์ระดับโลกในปี 2549-2555 และแผนการจัดซื้อของผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่จากผู้นำด้านธุรกิจยานยนต์” นายสุมิโยชิกล่าวเสริม
รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คุณ ชุติมา ดวงพาณิช ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เจโทร กรุงเทพ
โทรศัพท์ 0 22253 6441 ต่อ 147
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit