ทริสเรทติ้งจัดอันดับหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ “สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง” “A-/Stable”

27 Jan 2006

กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยืนยันผลการทบทวนอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) รวมทั้งอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันและตั๋วแลกเงินในปัจจุบันของบริษัทในระดับเดิมที่ “A-” ในขณะเดียวกันได้จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกัน 2 ชุดของบริษัทในวงเงินรวมไม่เกิน 800 ล้านบาทที่ระดับ “A-” พร้อมทั้งคงแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ขยายธุรกิจ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในตลาดเช่าซื้อรถยนต์และประสบการณ์ของคณะผู้บริหาร อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมเช่าซื้อทั้งรถยนต์ใหม่และรถยนต์เก่า รวมทั้งต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนในสภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงจะส่งผลกระทบด้านลบต่อความต้องการเช่าซื้อรถยนต์

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความสามารถในการดำรงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในตลาดและสามารถรักษาระดับการขยายตัวของสินเชื่อต่อไปได้ตามความคาดหมายของทริสเรทติ้ง นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงจากผลกระทบด้านลบต่างๆ

ทริสเรทติ้งรายงานว่า สินเชื่อรวมของบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่งเพิ่มขึ้น 12.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 โดยเพิ่มจาก 37,341 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2547 เป็น 41,890 ล้านบาท รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของบริษัทสำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2548 อยู่ที่ 1,540 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 4.8% จาก 1,469 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2547 แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะเพิ่มขึ้น แต่กำไรสุทธิของบริษัทลดลง 2.0% เนื่องจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น 30.5% อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 17.8% ในปี 2546 เป็น 20.7% ในปี 2547 และ 21.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 ตั้งแต่ปี 2546 การเติบโตของสินเชื่อของบริษัทส่วนใหญ่เกิดจากการกู้ยืมใหม่ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนของหนี้สินเพิ่มขึ้น อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทลดลงจาก 20.6% ในปี 2545 เป็น 17.0% ในปี 2546 เป็น 15.8% ในปี 2547 และเป็น 14.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 ในปี 2549 บริษัทมีแผนจะลดสัดส่วนของหนี้สินลงด้วยการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ซึ่งจะช่วยให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทดีขึ้น

บริษัทไม่สามารถปัดภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นไปยังลูกค้าได้ทั้งหมดเนื่องจากการแข่งขันในตลาดเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ยังคงอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่คิดจากลูกค้าเช่าซื้อที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนต้นทุนจากการจัดหาเงินทุนได้ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลง ผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งรวมทั้งบริษัทจึงได้หันไปเพิ่มการให้สินเชื่อสำหรับรถยนต์เก่าซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าและสามารถดำรงส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายไม่ให้ลดลง อย่างไรก็ตาม สินเชื่อสำหรับรถยนต์เก่าที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อบริษัททั้งในส่วนของคุณภาพสินทรัพย์โดยรวม เงินสำรองสำหรับหนี้สงสัยจะสูญ และความสามารถในการทำกำไร ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--