ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศของบมจ ปูนซิเมนต์ไทยและของบมจ เยื่อกระดาษสยามที่ ‘A+(tha)’

23 Feb 2006

กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (“SCC”) และของบริษัท เยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) (“SPP”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SCC ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ฟิทช์ยังประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของทั้งสองบริษัทที่ ‘F1(tha)’ การประกาศคงอันดับเครดิตในครั้งนี้ได้ครอบคลุมถึงอันดับเครดิตของหุ้นกู้ของ SCC และของ SPP ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน โดยหุ้นกู้ของ SPP ได้รับการค้ำประกันเต็มจำนวนจาก SCC ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ยังประกาศให้อันดับเครดิต ‘A+(tha)’ แก่หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิสามชุดใหม่ของ SCC (ครั้งที่ 1-3/2549) ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท โดยเงินที่ได้รับจากหุ้นกู้ชุดใหม่จะนำมาชำระคืนหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระ

อันดับเครดิตของ SCC สะท้อนถึงการที่บริษัทมีการกระจายตัวของรายได้ที่สูง ความเป็นผู้นำทางด้านส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจหลักและการที่บริษัทมีชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักอย่างดีในกลุ่มลูกค้า รวมถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดย SCC มีเป้าหมายที่จะรักษาระดับหนี้สินในระยะยาวให้อยู่ในระดับที่มีความคล่องตัวทางกางเงินที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ การที่ SCC มีความสามารถในการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ในประเทศที่สูงยังเป็นปัจจัยสนับสนุนความสามารถในการชำระหนี้และความคล่องตัวทางกางเงินของบริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่า SCC มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการที่ต้นทุนด้านพลังงานอยู่ในระดับสูง รวมถึงการที่บริษัทประกอบกิจการในอุตสาหกรรมที่มีอุปทานส่วนเกินจำนวนมากและมีการแข่งขันที่รุนแรง ในขณะเดียวกัน SCC มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะทำให้อัตราส่วนทางด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับระดับหนี้สินเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยในปี 2548 SCC ได้ประกาศแผนการลงทุนมูลค่ารวมประมาณ 75 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทน่าจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (net debt to EBITDA) ที่ระดับ 2.0 ถึง 2.5 เท่าได้ ปัจจัยความเสี่ยงของบริษัทยังรวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน (Execution Risk) ที่สืบเนื่องมาจากการลงทุนใหม่และความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ SCC มีการค้ำประกันหนี้ของบริษัทร่วม

ในส่วนอันดับเครดิตของ SPP ได้มีการพิจารณาถึงจุดแข็งในด้านส่วนแบ่งตลาดและรูปแบบการผลิตที่ครบวงจรของบริษัท รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและการที่ SPP ได้รับการสนับสนุนและอยู่ภายใต้การจัดการของ SCC ในขณะเดียวกัน SPP มีความเสี่ยงที่เกิดจากการกระจายตัวของรายได้ที่ต่ำ การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจเยื่อและผลิตภัณฑ์กระดาษ รวมถึงส่วนต่างกำไรที่ลดลง นอกจากนี้ SPP ยังมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะทำให้อัตราส่วนทางด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับระดับหนี้สินเพิ่มขึ้นในอนาคต ถึงแม้ว่าน่าจะยังสามารถรักษาให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มได้

หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2547 ผลประกอบการของ SCC ได้ปรับตัวลดลงในปี 2548 โดย EBITDA (ก่อนเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) และกำไรสุทธิลดลง 12% จากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 43 พันล้านและ 32 พันล้านตามลำดับ เมื่อรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม EBITDA ของกลุ่มในปี 2548 อยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ลดลง 6% จากปี 2547 ในขณะที่ รายได้รวมมีการเพิ่มขึ้น ผลประกอบการในปี 2548 ได้รับผลกระทบจากส่วนต่างกำไรที่ลดลงในทุกธุรกิจหลัก อันเป็นผลมาจาก ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบที่ลดลงของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี การปิด naphtha cracker เป็นเวลา 35 วันเพื่อทำการบำรุงซ่อมแซมและการปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งส่งผลให้กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีมีการปรับตัวลดลงของ EBITDA มากที่สุด ในขณะที่กลุ่มธุรกิจปูนซีเมนต์สามารถรักษาระดับ EBITDA ไว้ได้เนื่องจากส่วนต่างกำไรที่ลดลงได้ถูกชดเชยโดยยอดขายที่สูงขึ้นมาก ในส่วนของกลุ่มธุรกิจกระดาษ EBITDA มีการปรับตัวลดลงไม่มากนัก นอกจากผลการดำเนินงานที่ลดลง กำไรสุทธิของ SCC ยังได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายทางภาษีที่สูงขึ้นเนื่องจากผลประโยชน์ทางภาษีบางส่วนได้มีการหมดอายุลง

ณ สิ้นปี 2548 ระดับหนี้สินสุทธิของกลุ่มอยู่ที่ 101 พันล้านบาทซึ่งค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยการลงทุนและการจ่ายเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นได้ถูกชดเชยโดยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง อัตราส่วน net debt to EBITDA ของ SCC เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.3 เท่า ณ สิ้นปี 2548 เมื่อรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม SCC สามารถรักษาระดับอัตราส่วน net debt to EBITDA ที่ประมาณ 2.0 เท่าได้ ในขณะที่อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายยังคงแข็งแกร่งที่ 9 เท่า ถึงแม้ว่าบริษัทมีแผนการลงทุนและการจ่ายเงินปันผลที่สูงรวมถึงมีแนวโน้มของผลกำไรที่ไม่สดใสนัก บริษัทน่าจะยังสามารถรักษาอัตราส่วนทางด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับระดับหนี้สินให้สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวได้ โดยมีพื้นฐานมาจากฐาน EBITDA ที่แข็งแกร่งและเงิบปันผลรับจากบริษัทร่วม

ติดต่อ: อรวรรณ การุณกรสกุล, เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, วสันต์ ผลเจริญ, Vincent Milton + 662 655 4755

หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้

คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของฟิทช์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน--จบ--