กุ้งไทยคึกคัก หลังอียูคืนสิทธิจีเอสพีให้กุ้งไทย ซีพีเอฟขยับเป้าปีนี้ทันที คาดส่งออกกุ้งไปอียูเพิ่ม 300%

02 Sep 2005

กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--ซีพีเอฟ

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยกรณีสหภาพยุโรป ให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมกุ้งไทย หลังประสบภัยสึนามิ ด้วยการคืนสิทธิพิเศษทางภาษีหรือจีเอสพี ในอัตราเท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ อาทิ มาเลเซีย อินเดียและอินโดนีเซีย โดยให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2548 ที่ผ่านมาว่า

เดิมกุ้งไทยต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราสูงสุดเพียงประเทศเดียวที่ร้อยละ 12 สำหรับกุ้งสดแช่แข็ง และร้อยละ 20 สำหรับกุ้งปรุงแต่ง ส่งผลให้ประเทศไทยส่งกุ้งไปขายยังสหภาพยุโรปได้เพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ของปริมาณการนำเข้ากุ้งทั้งหมดของสหภาพยุโรปที่สูงถึง 700,000 ตัน เมื่อได้รับการคืนสิทธิพิเศษทางภาษี ไทยจะเสียภาษีในอัตราเดียวกับคู่แข่ง คือ กุ้งแช่แข็งร้อยละ 4.2 และกุ้งปรุงแต่ง ที่ร้อยละ 7.0 หมายความว่า กุ้งจากประเทศไทยจะสามารถแข่งขันทางด้านราคาได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น

“เชื่อว่าปริมาณการส่งออกกุ้งไทยไปยุโรปจะค่อยๆสูงขึ้น จนเท่ากับก่อนถูกตัดจีเอสพีที่ส่งออกได้ในปริมาณ 35,000 ตัน และโดยในส่วนของซีพีเอฟ คาดว่าสิ้นปีนี้ จะสามารถส่งออกกุ้งไปสหภาพยุโรปได้ถึง 6,000 ตัน จากเดิม 2,000 ตัน เพิ่มขึ้นราว 300% ส่งผลให้การส่งออกกุ้งโดยรวมทุกตลาดของ ซีพีเอฟ ณ สิ้นปี 2548 น่าจะอยู่ในราว 45,000 ตัน จากเดิม 12,000 ตัน และคาดว่าปีหน้าจะส่งออกได้ทั้งสิ้น 60,000-70,000 ตัน” นายอดิเรกกล่าว

ทั้งนี้ เนื่องจากซีพีเอฟเองได้ทุ่มเทการวิจัยพัฒนากระบวนการเลี้ยงกุ้งและสร้างโรงงานแปรรูปกุ้ง ใน จ.ระยอง และ สมุทรสาคร ด้วยเงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันนี้ โรงงานทั้ง 2 แห่งได้แล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ เป็นโรงงานที่มีมาตรฐานอาหารปลอดภัยเป็นที่ยอมรับ ด้วยการนำมาตรการความปลอดภัยในอาหาร หรือ Food Safety มาใช้ในทุกขั้นตอนการผลิตภายในโรงงานแปรรูปกุ้งที่ได้การรับรองตามมาตรฐานสากล GMP, HACCP, ISO 9001:2000, ISO 14001, และ BRC STANDARD หรือ British Retailer Consortium for the United Kingdom ซึ่งซีพีเอฟได้รับจากสหราชอาณาจักร เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ทั้งยังมีระบบตรวจสอบย้อนกลับของกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน

นายอดิเรกยังกล่าวอีกว่า เมื่อไม่ต้องเจอมาตรการกีดกันทางภาษีอย่างจีเอสพี ก็นับได้ว่า ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งของเมืองไทยถูกที่สุดในโลก เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตลูกกุ้ง อาหารกุ้ง และเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งของไทย มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าทุกๆประเทศ เมื่อมาผนวกกับการแปรรูปเพิ่มมูลค่าในสินค้ากุ้งแล้ว ก็ยิ่งจะทำให้ได้ราคาที่ดี มีกำไรสูง ซึ่งจะเป็นที่มาของการสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศชาติในที่สุด

สำนักสารนิเทศ CPF

โทร. 0-2625-7344-5--จบ--