กลุ่มโรงกลั่นฯ ย้ำ ค้าขายเป็นธรรมตามกลไกเสรี ไม่คิดเอาเปรียบผู้บริโภค

09 Sep 2005

กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--ส.อ.ท.

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ออกโรงย้ำธุรกิจกลั่นน้ำมันยังคงยืนอยู่บนกลไกตลาด ยอมรับที่ผ่านมา ราคาน้ำมันผันผวนสูง กระทบความรู้สึกคนไทย แต่การพาดพิงถึงธุรกิจการกลั่นในเรื่องกำไรหรือค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้น ขอให้คำนึงภาระหนี้สินและภาระการลงทุนที่พยายามจะตอบสนองความต้องการของชาติอย่างเพียงพอ โดยไม่ต้องเกิดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป ส่วนผู้ค้าน้ำมันบางรายเรียกร้องให้รัฐลดค่าการกลั่นเพื่อพยุงราคาขายปลีกในประเทศ เห็นชัดว่าเป็นเรื่องที่ตนเองไม่สามารถแข่งขันได้ในธุรกิจค้าปลีก ซึ่งมีการค้าที่ทวีความดุเดือดมากในช่วงนี้ได้

“อุตสาหกรรมน้ำมันเป็นธุรกิจที่ค้าขายถึงกันทั่วโลก จึงต้องอยู่บนพื้นฐานระบบการค้าเสรี การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปทุกครั้งเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งสะท้อนภาพความต้องการและการจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยอย่างชัดเจน ดูอย่างช่วงปี 2539-2544 ที่ค่าการกลั่นตกต่ำจากปัญหากำลังการกลั่นคงเหลือในระดับสูง เนื่องจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน ช่วงนั้น โรงกลั่นทุกแห่งประสบปัญหาขาดทุนถ้วนหน้า เรามีภาระหนี้สินจากการลงทุนสูงถึง 120,145 ล้านบาท ซึ่งยังคงขาดทุนสะสมมาจนถึงวันนี้ และทำให้ผู้ค้าน้ำมันบางรายที่เคยลงทุนในกิจการโรงกลั่นมาก่อน ต้องปิดฉากธุรกิจกลั่นน้ำมันไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว อุปสงค์อุปทานด้านน้ำมันก็ขยับตาม นับจากปี 2546 ค่าการกลั่นจึงเริ่มกระเตื้องด้วย และทรงตัวตามความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

ต่อกรณีที่ค่าการกลั่นในปัจจุบันอยู่ในระดับ 6-8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพราะกำลังการกลั่นน้ำมันที่มีจำกัด ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปมีความไวต่อข่าวที่กระทบการจัดหาอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ถือว่าเป็นผลกระทบในช่วงสั้นๆ เพราะทุกครั้งที่ค่าการกลั่นดีดตัวขึ้นสูงมาก แต่เพียงช่วงเวลาหนึ่งก็จะลดลงสู่ระดับปกติอย่างรวดเร็ว อย่างเช่นในช่วงที่พายุเฮอริเคนแคทรีนาถล่มสหรัฐ ราคาน้ำมันเบนซินในช่วง 1-2 วันแรกได้ขึ้นไปถึง10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ในที่สุดก็ปรับลดลงมาอย่างรวดเร็ว

สำหรับราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูป เป็นส่วนที่ผู้ค้าปลีกเป็นผู้กำหนด ในปัจจุบันตลาดน้ำมันมีการแข่งขันกันมาก ทำให้มีผู้ค้าน้ำมันบางรายซึ่งลงทุนในธุรกิจน้ำมันตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง (ธุรกิจการกลั่นจนถึงค้าปลีก) ต้องปรับตัวปรับกลยุทธ์กันเต็มที่เพื่อการอยู่รอดของธุรกิจค้าปลีกของตนเอง ซึ่งเป็นลักษณะการดำเนินธุรกิจที่สามารถเห็นได้ กลุ่มโรงกลั่นเห็นว่า ปัจจุบัน การกำหนดราคาน้ำมันในส่วนค้าส่งหรือค้าปลีก ล้วนแต่เป็นไปตามกลไกตลาดโดยเสรี หาใช่การฉวยโอกาสที่มุ่งเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ผู้ค้าปลีกบางรายเรียกร้องให้ลดค่าการกลั่นนั้น ความจริง ถือว่าเป็นเรื่องของการค้าขายปกติ ซึ่งคู่ธุรกิจสามารถเจรจาต่อรองให้อยู่ในระดับที่พอใจของทั้ง 2 ฝ่ายได้ แต่มิใช่มาเรียกร้องรัฐบาลเพื่อเพิ่มค่าการตลาดให้ตนเองเช่นนั้น ในขณะที่ผู้ค้ารายอื่นยังสามารถปรับตัวและต่อสู้ทางกลไกตลาดค้าเสรีเพื่อให้ตนอยู่รอดต่อไปได้

“การพิจารณาค่าการกลั่นควรให้ความเป็นธรรมกับโรงกลั่นด้วย โดยดูเป็นค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ใช่มองกันแค่วันใดวันหนึ่ง ความจริงกลุ่มโรงกลั่นได้ชี้แจงเรื่องค่าการกลั่นนี้มาโดยตลอด แต่ก็ยังมีผู้คอยสร้างกระแสต่อสาธารณะอยู่เนืองๆ ในฐานะกลุ่มโรงกลั่นจึงอยากขอให้ช่วยกันแก้ปัญหาด้านพลังงานในภาพรวม และนึกถึงผลสุดท้ายหรือแท้จริงที่จะเกิดขึ้น เพราะหากรัฐหันมาสร้างเงื่อนไขที่ไม่เอื้อให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ เพื่อเพิ่มกำลังการกลั่นให้เพียงพอแก่ความต้องการ ประเทศอาจประสบปัญหาเรื่องความมั่นคง

ในการจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปเช่นในอเมริกาขณะนี้ และยังรวมถึงการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งจะทำให้ไทยต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมหาศาลในอนาคตอันใกล้นี้”--จบ--