กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
3 องค์กรวิชาชีพ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาวิศวกร และสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ประกาศหนุนผลวิจัยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เลือกพื้นที่ ย่านเกียกกายเป็นที่ตั้งรัฐสภาแห่งใหม่ ระบุ เป็นพื้นที่เหมาะสมและมีศักยภาพที่สุด เพราะสามารถสร้างความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา การคมนาคมขนส่งสะดวก และเป็นที่ราชพัสดุทหาร ทำให้ประหยัดงบประมาณในการก่อสร้าง หากเทียบกับพื้นที่อื่น
นายทวีจิตร จันทรสาขา อุปนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมสถาปนิกสยามฯ สภาวิศวกร และสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นองค์กรวิชาชีพ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ได้มีมติร่วมกันเกี่ยวกับการเลือกพื้นที่สำหรับก่อสร้างอาคารัฐสภาแห่งใหม่ โดยมีความเห็นร่วมกันว่า พื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่คือ พื้นที่ย่านเกียกกาย ซึ่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการศึกษาวิจัยแล้ว พบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ทั้งด้านการเมืองการปกครอง ผังเมือง สิ่งแวดล้อม วิศวกรรม และความเหมาะสมเชิงเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนา ให้มีคุณค่าเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์
เนื่องจากเป็นเส้นทางที่สามารถวางแนวแกนถนน ต่อเนื่องเชื่อมโยงกับถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ทางการเมืองและเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมด้านภูมิทัศน์เพราะอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ มีการคมนาคมขนส่งสะดวก และในอนาคตภาครัฐมีแผนที่จะก่อสร้างเส้นทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และมีแผนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งส่งผลให้พื้นที่บริเวณนี้มีศักยภาพยิ่งขึ้น
การใช้พื้นที่ราชพัสดุทหาร เขตดุสิต (เกียกกาย) ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 130 ไร่ โดยมีด้านที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยายาวกว่า 600 เมตร เป็นพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จะทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณในการดำเนินการได้มากทั้งในด้านค่าใช้จ่ายการเวนคืน และการซื้อที่ดิน โดยจากการศึกษาพบว่า อาคารรัฐสภาแห่งใหม่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่เพียง 90 ไร่เท่านั้น
เนื่องจากรัฐสภาแห่งใหม่ที่จะดำเนินการก่อสร้างนี้ จะมีเฉพาะส่วนที่เป็นรัฐสภา ไม่มีมีศูนย์ราชการอื่นๆ ไปรวมอยู่ด้วย ไม่จำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ดินขนาดใหญ่ หรือสร้างเมืองใหม่เพื่อรองรับโครงการนี้
ส่วนการโยกย้ายอาคารต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และวางแผนการใช้ที่ดินที่เหมาะสม ก็สามารถที่จะทำการโยกย้ายมาก่อสร้างอาคารให้ใหม่ ในพื้นที่ราชพัสดุทหารบริเวณใกล้เคียง หรือพื้นที่อื่นที่เหมาะสมได้
นายทวีจิตร กล่าวต่อไปว่า 3 องค์กรวิชาชีพ จะนำความเห็นดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ซึ่งมีนายโภคิน พลกุล เป็นประธาน เพื่อให้ที่ประชุมนำไปประกอบการพิจารณาตัดสินใจเลือกพื้นที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ในการประชุมครั้งต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์ ศริญญา แสนมีมา / พรทิภา อยู่แสง
โทร. 0-2204-8218, 0-2204-8215 โทรสาร 0-2259-9246--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit