กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--ปตท..
กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ ปตท. รฟท. ธนาคารเอสเอ็มอี ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และ บริษัทซิเมนต์ไทย โลจิสติกส์ จำกัด และ ผู้ประกอบการขนส่งกลุ่มศรีไทย ส่งเสริมการใช้ก๊าซเอ็นจีวีทดแทนน้ำมัน บรรเทาผลกระทบในภาวะวิกฤตราคาน้ำมัน และ ช่วยประเทศลดภาระการนำเข้าน้ำมัน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการลดการขาดดุลการค้า อันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
วันนี้ (20 กรกฎาคม 2548) เวลา 09.00 น. ที่ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจใน “โครงการเอ็นจีวีเพื่อเศรษฐกิจไทย” จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMALL AND MEDIUM ENTERPRISE DEVELOPMENT BANK OF THAILAND : SME BANK) หรือ ธนาคารเอสเอ็มอี , บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัทซิเมนต์ไทย โลจิสติกส์ จำกัด และ ผู้ประกอบการขนส่งกลุ่มศรีไทย และ เป็นประธานใน “พิธีมอบรถโดยสารใช้ก๊าซเอ็นจีวี (Repowering Bus)” จำนวน 2 คัน ให้กับ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กระทรวงพลังงาน โดย สนพ. จะให้ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นำไปทดลองวิ่งใช้งานจริงเป็นระยะเวลา 1 ปี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า “โครงการเอ็นจีวีเพื่อเศรษฐกิจไทย” นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบในภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีราคาสูงโดยจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ขนส่งทั่วไป เช่น รถหัวลาก รถบรรทุก รถตู้ (ร่วม ขสมก.) ซึ่งเป็นรถใช้งานเชิงพาณิชย์ ติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงทดแทนการใช้น้ำมันดีเซล โดยมีเป้าหมายในปี 2548 จำนวน 14,000 คัน ซึ่งจะสามารถช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลในประเทศ ประมาณ 4 แสนลิตร/วัน หรือประมาณ 146 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่า 2,520 ล้านบาท/ปี (ราคา MOP ประเทศสิงคโปร์ วันที่ 19 ก.ค. 48) ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก ปตท., ธนาคารเอสเอ็มอี และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ในการดำเนินโครงการฯ โดย ปตท. จะให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทดลองติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวีให้กับรถยนต์ของ บริษัทซิเมนต์ไทย โลจิสติกส์ จำกัด และ ผู้ประกอบการขนส่ง กลุ่มศรีไทย จำนวนบริษัทละ 2 คัน ซึ่งหากผลการใช้งานเป็นที่พึงพอใจ บริษัทฯ จะพิจารณานำรถที่เหลือทำการติดตั้งอุปกรณ์หรือดัดแปลงใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงต่อไป สำหรับ ธนาคารเอสเอ็มอี และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จะให้บริการสินเชื่อแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเป็นค่าอุปกรณ์เอ็นจีวีและค่าติดตั้งฯ ในอัตราดอกเบี้ย/อัตรากำไรถูกเป็นพิเศษ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในภาวะวิกฤติราคาน้ำมันที่ปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมให้รถขนส่งทั่วไป ได้แก่ รถหัวลาก รถบรรทุก และ รถตู้โดยสาร ซึ่งมีการวิ่งใช้งานในระยะทางไกลๆ หันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีทดแทนน้ำมัน จะช่วยลดภาระการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการลดการขาดดุลการค้า อันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งนอกจากรถดังกล่าวแล้ว ยานพาหนะประเภทเรือประมง และ รถไฟ ก็เป็นกลุ่มที่ใช้น้ำมันดีเซลสูง ขณะนี้ ปตท.ได้ร่วมกับผู้ประกอบอาชีพประมง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ทดลองนำเรือหาปลาขนาดเล็กที่ใช้น้ำมันประมาณ 100 ลิตรต่อวัน ติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวี ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้ และคาดว่าจะใช้ก๊าซเอ็นจีวีทดแทนน้ำมันดีเซลได้ประมาณวันละ 50 ลิตร/ลำ หากผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ และมีความเหมาะสมต่อการขยายการใช้งานเชิงพาณิชย์ กระทรวงพลังงานจะมอบหมายให้ ปตท. ดำเนินการจัดสร้างสถานีเติมก๊าซฯ เพื่ออำนวยความสะดวกตแก่ผู้ประกอบอาชีพประมงต่อไป ขณะนี้มีเรือประมง ใน จ.สมุทรสงคราม จ.สมุทรสาคร และ จ.สงขลา ได้แสดงความสนใจอย่างมากที่จะใช้ก๊าซเอ็นจีวีในเรือประมงแล้ว สำหรับรถไฟ ปตท.ได้ร่วมกับ รฟท.ทำการทดลองใช้ก๊าซเอ็นจีวีในหัวรถจักรด้วยเช่นกัน
นายกอบศักดิ์ พงศ์พนรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเอสเอ็มอี เปิดเผยว่า ธนาคารเอสเอ็มอี ในฐานะธนาคารของรัฐ ตระหนักถึงความจำเป็นของนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนส่งทั่วไป ซึ่งเป็นรถใช้งานเชิงพาณิชย์ ใช้พลังงานทดแทนในภาวะวิกฤตราคาน้ำมัน จึงได้ร่วมดำเนิน “โครงการเอ็นจีวีเพื่อเศรษฐกิจไทย” โดยเปิดให้บริการสินเชื่อ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ระยะผ่อนชำระ 3 ปี ขึ้นไป ให้กับผู้ประกอบการที่มีเงินทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการวางเงินดาวน์บางส่วน ส่วนที่เหลือผ่อนจ่ายคืน โดยบวกในราคาก๊าซเอ็นจีวี ผู้สนใจจะขอสินเชื่อสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ธนาคารเอสเอ็มอีทุกสาขา หรือ Call Center โทร. 1357
ดร.รัชสุวรรณ ปิดพยันต์ รักษาการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมใน “โครงการเอ็นจีวีเพื่อเศรษฐกิจไทย” โดยเปิดให้บริการสินเชื่อเงื่อนไขเดียวกันกับธนาคารเอสเอ็มอี ผู้สนใจจะขอสินเชื่อสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ฝ่ายสินเชื่อ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2670-8111
นายจิตต์สันติ ธนะโสภณ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รฟท. ได้นำหัวรถจักร จำนวน 1 หัวจักร ที่วิ่งขนส่งสินค้า ระหว่างลาดกระบัง – แหลมฉบัง มาติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวี โดยจะเริ่มทดลองวิ่งใช้งานประมาณกลางเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้ก๊าซเอ็นจีวีทดแทนน้ำมันดีเซลได้ประมาณวันละ 2,100 ลิตร หรือประมาณ 0.6 ล้านลิตร/ปี /หัวจักร ทั้งนี้ หากผลการทดลองพบว่าสามารถใช้งานได้ดี
รฟท. อาจจะพิจารณาขยายการติดตั้งกับหัวรถจักรชนิดเดียวกันอีกจำนวน 65 หัวจักร ด้วย
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.เปิดเผยถึงรายละเอียด การติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีทดแทนการใช้น้ำมัน ใน “โครงการเอ็นจีวีเพื่อเศรษฐกิจไทย” ว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2548 ปตท. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับผู้ประกอบการรถร่วม ขสมก. จำนวน 4 ราย , บริษัทอู่เชิดชัยอุตสาหกรรม และ บริษัทรับดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลให้เป็นเครื่องยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวี จำนวน 3 กลุ่ม โดยนำรถโดยสารประจำทางมาดัดแปลงเครื่องยนต์ฯ จำนวน 6 คัน ซึ่งขณะนี้กลุ่มบริษัทชื่นศิริได้ทำการดัดแปลงเครื่องยนต์ Hino EH700 เป็นเครื่องยนต์ต้นแบบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเครื่องยนต์ดังกล่าวจะมาถึงเมืองไทยในปลายเดือนนี้ หากผลการใช้งานเป็นที่พึงพอใจของบริษัทรถร่วมฯ จะมีการขยายการดัดแปลงเครื่องยนต์รุ่นนี้ซึ่งมีอยู่จำนวนมากต่อไป
วันนี้ ปตท. จะขยายการใช้ก๊าซเอ็นจีวี ไปยังกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งที่ใช้รถหัวลาก รถบรรทุกสิบล้อพ่วง รถขนปูน ฯลฯ ตลอดจนรถโดยสารประจำทาง โดยทดลองติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวีระบบเชื้อเพลิงร่วม ซึ่งเป็นระบบที่สามารถใช้ได้ทั้งน้ำมันดีเซลและก๊าซเอ็นจีวี
ซึ่งเหมาะกับรถยนต์ที่วิ่งระยะทางไกล หากก๊าซเอ็นจีวีหมดก็สามารถใช้น้ำมันดีเซลวิ่งใช้งานต่อไปได้ และการติดตั้งทำได้รวดเร็วเพียงแต่ติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเพิ่มเติม ไม่ต้องทำการดัดแปลงเครื่องยนต์ ค่าใช้จ่ายต่ำ ประมาณคันละ 120,000 – 250,000 บาท (ถูกกว่าการดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลเดิมเป็นเครื่องยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีอย่างเดียว ซึ่งมีราคาคันละประมาณ 400,000 -600,000 บาท) โดยจะทดลองติดตั้งอุปกรณ์ฯ ให้กับรถจำนวน 13 คัน ของ บริษัทนำชัย , บริษัทรถร่วม ขสมก. และ บขส. , บริษัทซิเมนต์ไทย โลจิ สติกส์ จำกัด และ ผู้ประกอบการขนส่งกลุ่มศรีไทย
สำหรับการใช้ก๊าซเอ็นจีวีกับรถไฟ ซึ่งเป็นโครงการร่วมกันระหว่าง กองทุนเพื่อการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน, รฟท. และ ปตท. ขณะนี้ รฟท., ปตท. และ ผู้เชี่ยวชาญ อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวี
โดยจะเริ่มทดลองวิ่งใช้งานกลางเดือนสิงหาคมนี้ สำหรับในเรือประมง การติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวีจะแล้วเสร็จปลายเดือนนี้ ทั้งนี้ ปตท. จะได้จัดทำข้อมูลผลการทดลองใช้ก๊าซเอ็นจีวีในยานพาหนะประเภทต่าง ๆ ที่ ปตท. ได้ดำเนินการฯ เผยแพร่ให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ ได้ศึกษาประกอบการตัดสินใจต่อไป
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ปตท. ยังคงตรึงราคาก๊าซเอ็นจีวีไว้ที่ กิโลกรัมละ 8.50 บาท ทุกสถานี แม้ราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิดจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ราคาก๊าซเอ็นจีวีถูกกว่าราคาน้ำมันเบนซิน 95 ถึง 71% ถูกกว่าราคาน้ำมันเบนซิน 91 70% ถูกกว่าราคาน้ำมันดีเซล 62% และ ถูกกว่าราคาก๊าซแอลพีจี 33% (บนฐานค่าความร้อนที่เท่ากัน) (ราคา ปตท. ณ วันที่ 19 ก.ค. 48) นอกจากนี้ ปตท. ยังได้เร่งขยายสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวี จากปัจจุบันที่มีจำนวนทั้งสิ้น 34 สถานี ให้เพิ่มเป็น 70 - 80 สถานี ภายในสิ้นปีนี้อีกด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
โทรศัพท์ 0-2537-3217 ส่วนประชาสัมพันธ์
กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ
โทรสาร 0-2537-3211 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit