กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย
3 สมาคม ประเมินแนวโน้มสินค้ายางพารา ข้าว และมันสำปะหลัง ใน AFET มีทิศทางที่ดีขึ้น เชื่อสามารถกระตุ้นสภาพคล่องการซื้อขายได้ หากรัฐบาลนำข้าวในคลังเข้ามาเทรด พร้อมได้แรงหนุนจากผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความรู้กับผู้ประกอบการ ชี้ AFET จะเป็นตลาดที่สำคัญในอนาคต
นายหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่าการผลิตและส่งออกยางพาราของไทย ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเป็นช่วงที่สินค้ามีน้อย เพราะอากาศแล้งทำให้การผลิตหยุดเร็ว แต่หลังจากกรกฎาคมไปก็น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งแม้ว่าตัวเลขการส่งออกในช่วงมกราคม-เมษายนเพิ่มขึ้น 1% ถือว่าเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ในส่วนราคานั้นถือว่าขึ้นมาสูงมาก โดยช่วงมกราคมถึงกรกฎาคมราคาปรับขึ้นมาประมาณ 30% จาก 40 บาทต้นๆ ตอนนี้เป็น 60 บาทต้นๆ แล้ว โดยการผลิตและการส่งออกยางพาราของไทยนั้น คู่แข่งที่สำคัญคืออินโดนีเซีย มาเลเซีย เนื่องจากราคาขายยางพาราถูกกว่าไทยกิโลกรัมละ 4-5 บาท
“อยากจะให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ค้ายาง ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออก ยี่ปั๊ว หรือชาวสวน มีความเข้าใจถึงกลไก AFET มากขึ้น และอยากให้เข้ามาใช้บริการของ AFET เพราะตอนที่ประเทศไทยยังไม่มีตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ทุกคนก็เรียกร้องอยากจะให้มี ตอนนี้ก็ได้มีขึ้นมาแล้ว ซึ่งผมเองก็คิดว่าไทยเราผลิตยางมากที่สุดในโลก และนี่คือการกำหนดราคาเองของเรา ที่ควรจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับ AFET“ นายหลักชัย กล่าว
นายรุจจน์ ทรัพย์นิรันดร์ กรรมการบริหารสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า ทิศทางการผลิตและส่งออกสินค้าข้าวของไทยปีที่แล้วเป็นปีทองของประเทศไทย ซึ่งสามารถขายได้ถึง 10 ล้านตัน เนื่องจากจีนมีปัญหาภัยธรรมชาติปลูกแล้วไม่ได้ผลผลิต ประกอบกับทางอเมริกาใต้ก็มีปัญหาฝนแล้งเช่นกัน จึงหันมาซื้อข้าวในประเทศไทยจำนวนมาก แต่ในปีนี้ต่างประเทศไม่ได้ต้องการข้าวมากเหมือนเมื่อปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาข้าวมีราคาแพง เพราะรัฐบาลตั้งราคาจำนำข้าวสูงเพื่อช่วยชาวนา จึงเป็นผลกระทบให้ประเทศคู่ค้าหันไปซื้อข้าวในประเทศที่ถูกกว่า จึงทำให้การขายข้าวขาวตกลงไปด้วย
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการซื้อขายข้าวใน AFET น่าจะมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น เพราะขณะนี้รัฐบาลกำลังสนใจที่จะนำข้าวในคลังรัฐบาลเข้ามาซื้อขายใน AFET ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะปัจจุบันรัฐบาลเป็นแหล่งที่มีปริมาณข้าวมากที่สุดในระบบ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลเอาข้าวมาซื้อขายใน AFET ผู้ส่งออกก็ต้องมาซื้อขายใน AFET เช่นกัน ในขณะนี้คนที่จะส่งมอบจริง เช่น ผู้ส่งออก ยังเข้ามาซื้อขายใน AFET น้อยอยู่ คิดว่าถ้ากลุ่มนี้เข้ามาซื้อขายแล้ว ปริมาณการซื้อขายจะเพิ่มขึ้นอีกเยอะ
ส่วนทางด้านคุณปรีชา เต็มพร้อม นายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มการผลิตและส่งออกมันสำปะหลังของไทยว่า การผลิตและส่งออกในปีนี้จะผิดปกติจากปีที่ผ่านมา เพราะประสบภัยแล้งไป 7 เดือน ส่งผลให้หัวมันออกมาค่อนข้างน้อยราคาจึงแพง จากเดิม 1.70 บาท/กก. ตอนนี้ขยับเป็น 2 บาท /กก.แล้ว ทำให้ราคาแป้งมันขึ้นไปที่ 10 บาทกว่า
ทั้งนี้ประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่ปลูกหัวมันสำปะหลังในตลาด ก็ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน ดังนั้นมันเส้นที่จะส่งไปผลิตแอลกอฮอล์ เอทานอล ตอนนี้ทั่วๆ ไปก็ไม่มี แต่ยังเหลือที่ประเทศไทยอีกประมาณ 2 – 3 แสนตัน ซึ่งตอนนี้จีนกำลังให้ความสนใจนำเข้าอยู่ โดยที่ประเทศเราส่งออกมันเส้นในเดือนเมษายนอยู่ถึง 3 แสนตัน เดือนพฤษภาคมส่งออกอยู่ที่ 2 แสนกว่าตัน พอมาเดือนมิถุนายน อยู่ที่แสนกว่าตัน รวม 3 เดือนนี้แล้ว ก็ส่งออกประมาณ 6 แสนตัน ยังถือว่าอยู่ในเป้าที่วางไว้
นายกสมาคมกล่าวว่า สำหรับการซื้อขายแป้งมันใน AFET ยังเป็นเรื่องใหม่ และการเปิดซื้อขายแป้งมันในช่วงเวลานี้ผิดจังหวะ โดยเปิดในช่วงที่ราคาไม่มั่นคง ซึ่งตอนนี้ในตลาดจะมีแป้งมัน 3 เกรด แต่ทั้งสามเกรดนี้เหลืออยู่ไม่ถึง 4 หมื่นตันและคาดว่าจะหมด ดังนั้นการเข้ามาใช้กลไกของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ค่อนข้างเป็นเรื่องยาก เพราะสินค้าจริงไม่มี อย่างไรก็ตาม AFET ในช่วงนี้น่าจะเป็นการทดลองกระแสของภาวะเกี่ยวกับมันสำปะหลังในช่วงที่ยังไม่เคลื่อนไหวมาก เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติแล้วจะดีขึ้น เชื่อว่าในเดือนพฤศจิกายน ปริมาณการซื้อขายจะดีขึ้น และราคาก็น่าจะนิ่งกว่านี้
“แป้งมันในตลาดล่วงหน้าของบ้านเรายังเป็นของใหม่ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการซื้อขายแก่นักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้เราก็พยายามผลักดันให้สินค้าตัวนี้เกิด ค่อยๆ พัฒนาและปรับกันไป ซึ่งตอนนี้ก็ดีขึ้นถ้าเทียบกับตอนที่เปิดซื้อขายแป้งมันสำปะหลังในช่วงแรกๆ“--จบ--