ร่วมสร้างสังคมปลอดภัย เปิดใจยอมรับผู้ป่วยโรคจิตเภท

27 Oct 2005

กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--มูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา

มูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา เปิดตัวโครงการรณรงค์เพื่อความเข้าใจในผู้ป่วยจิตเภท แนะสังคมควรเปิดใจยอมรับผู้ป่วยจิตเภท เพื่อร่วมกันสร้างสังคมปลอดภัย เพราะโรคจิตเภทก็เหมือนการเจ็บป่วยอื่นๆ เป็นความผิดปรกติของสารเคมีในสมอง สามารถรักษาหายได้ หากเข้าถึงการรักษาโดยเร็วและรับประทานยาสม่ำเสมอ แนะวิธีสังเกต 12สัญญาณความผิดปรกติทางจิตระยะเริ่มแรก วอนคนใกล้ชิดให้ช่วยเหลือผู้ป่วยโดยไว อย่าปิดกั้นโอกาส เพราะจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมรับตัวเองและไม่ยอมรับการรักษา นำไปสู่ความสูญเสียทั้งตนเองและสังคม

ปัจจุบันคนไทยประมาณ 40% มีปัญหาสุขภาพจิต และ 8 -12 % มีโอกาสเป็นโรคจิตเภท ซึ่งในระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัว ทำให้ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็น เมื่อทิ้งไว้นาน อาการจะยิ่งรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะไม่อยู่ในโลกแห่งความจริง เพราะอาการประสาทหลอนและการรับรู้ที่ผิดเพี้ยนไป จนถึงขั้นไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และอาจจะนำไปสู่เรื่องร้ายแรงที่ไม่คาดคิด โครงการรณรงค์เพื่อความเข้าใจในผู้ป่วยโรคจิตเภทครั้งนี้ เป็นการริเริ่มรณรงค์ให้ผู้ป่วย ญาติ ผู้ใกล้ชิดและคนในสังคม มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคจิตเภทและเปิดใจยอมรับอย่างไม่มีอคติ เพื่อให้ผู้ป่วยกล้าที่จะรับคำปรึกษาและการรักษาจากจิตแพทย์ และสามารถกลับคืนมาอยู่ร่วมในสังคมได้

การที่ญาติ คนใกล้ชิด และคนในสังคม ไม่เข้าใจโรคจิตเภท ทำให้เกิดอคติ เกิดการเลือกปฏิบัติ เป็นการปิดประตู บีบให้ผู้ป่วยไม่ต้องการยอมรับตัวเองว่าป่วยด้วยโรคนี้ ต้องแอบซ่อนอยู่ในมุมที่ไม่สามารถแสดงตัวได้ และไม่กล้าออกมารับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจึงอยู่ในสภาพที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ และไม่มีใครเข้าถึงเขาได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสังคม ทำให้สังคมไม่ปลอดภัย เช่น กรณีของจิตรลดา

แพทย์หญิงสมรัก ชูวานิชวงศ์ จิตแพทย์โรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า โรคจิตเภทเป็นความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ทำให้การทำงานในสมองผิดปรกติ ซึ่งถ้ามองภายนอก เราไม่สามารถทราบได้ว่าใครคือผู้ป่วย วิธีการเบื้องต้น คือต้องสังเกตท่าที พฤติกรรมและความรู้สึกที่เปลี่ยนไป หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบปรึกษาจิตแพทย์ โดยปกติโรคนี้สามารถรักษาได้ เพียงแต่ ผู้ป่วยต้องยอมรับความจริงว่าตัวเองป่วยและต้องการการรักษา ในขณะที่ญาติก็ต้องเปิดใจยอมรับความจริงว่ามีคนในครอบครัวของเราป่วยและต้องรีบพาไปพบแพทย์ เมื่อรักษาหาย สังคมก็ต้องไม่มีอคติและไม่เลือกปฏิบัติ ยอมรับผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคมเช่นกัน

12 สัญญาณขอความช่วยเหลือ ที่ไม่ควรมองข้าม

สัญญาณบ่งบอกว่ามีปัญหาทางจิต คือ

  • ขาดความสุข ความพึงใจในชีวิต
  • หมดความสนใจในงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่สนุกสนาน
  • รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิดอย่างรุนแรง
  • แยกตัวจากสังคมและความสัมพันธ์กับผู้อื่น
  • มีความว้าวุ่นใจ เครียด กังวล หรือ กลัวอย่างรุนแรง
  • เวลารับประทานอาหารหรือเวลานอนแตกต่างจากปกติ
  • เซื่องซึม ไร้เรี่ยวแรง
  • หงุดหงิด ฉุนเฉียวเร็ว โกรธง่าย
  • ความคิดพลุ่งพล่าน สับสน พูดจาไม่ปะติดปะต่อ
  • ได้ยินเสียง หรือเห็นภาพที่ผู้อื่นไม่เห็น
  • เชื่อว่ามีคนเฝ้ามองหรือกำลังวางแผนจะทำร้าย
  • ต้องการจะทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น

เมื่อตัวเองหรือคนใกล้ชิด มีอาการดังกล่าวข้างต้น สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือและคำปรึกษาได้ที่หน่วยงานจิตเวช กรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่งทั่วประเทศ แผนกจิตเวชของทุกโรงพยาบาล สายด่วนสุขภาพจิต สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต หรือหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dmd.moph.go.th และ www.thaimental.com

แพทย์หญิงสมรัก กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รับการรักษาและหายจากอาการป่วย สามารถกลับเข้ามาใช้ชีวิตในสังคมจำนวนหนึ่ง และสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีประโยชน์ ตัวอย่างเช่น การแปลหนังสือเรื่อง “การเดินทางออกจากการเป็นบ้า” ของคุณเครือวัลย์ เที่ยงธรรม ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคจิตเภทและได้รับการรักษาจนหาย เป็นตัวอย่างที่ดีของการเปิดตัวเอง ยอมรับตัวเอง ครอบครัวคนใกล้ชิดให้การสนับสนุนค้ำจุนในสภาวะวิกฤต สังคมที่แวดล้อมให้การยอมรับ ถือเป็นผลผลิตที่งดงามของความใจกว้าง กล้าหาญ เป็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่าที่จะมีผู้ป่วยอยู่ในมุมมืด ที่ไม่ยอมรับตัวเอง คนอื่นไม่ยอมรับ และวันร้าย คืนร้าย ด้วยความป่วยไข้และภาพหลอนในใจ แล้วลงมือกระทำในสิ่งซึ่งเราทุกคนต้องเสียใจ ตัวผู้ป่วยเองก็ต้องเสียใจเมื่อเขากลับคืนสู่สติและหายป่วย

“ผลงานที่เราเห็นในชุดนิทรรศการ เป็นงานส่วนหนึ่งของบุคคลที่ผ่านการต่อสู้มาอย่างหนักหน่วง เพื่อเอาชนะความเจ็บป่วย เป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคม เพราะฉะนั้นขอเพียงแค่สังคมให้การยอมรับ สังคมก็จะไม่สูญเสียบุคคลที่มีคุณค่าไปอย่างไม่มีวันกลับ สื่อมวลชนมีส่วนช่วยอย่างยิ่งที่จะช่วยเผยแพร่ความรู้และทัศนคติต่อเรื่องนี้ให้กว้างขึ้น กว้างที่สุดเท่าที่แต่ละท่านจะทำได้ เพราะเราไม่รู้ว่าผู้ป่วยเหล่านั้นอยู่ที่ไหน เรารู้ว่าเขาทุกข์ทรมานอยู่ เราต้องสื่อสารให้ถึงเขา ให้เขาพยายามที่จะขึ้นมาจากปลักขวากหนาม วังวนที่ทุกข์ทรมาน ให้เขาได้ออกมา ในความสว่าง มาเป็นส่วนหนึ่งของเรา”

หากท่านต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

สุภาวดี จรุงธรรมโชติ โทร. 0 2633 9950 หรือ

อีเมล์[email protected]จบ--