ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ใหม่ “สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง” ที่ระดับ “A-/Stable”

04 Nov 2005

กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) รวมทั้งอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันและตั๋วแลกเงินในปัจจุบันของบริษัทในระดับเดิมที่ “A-” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ในขณะเดียวกันได้จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันใหม่ 2 ชุดของบริษัทในวงเงินไม่เกิน 400 ล้านบาท และไม่เกิน 2,500 ล้านบาทที่ระดับ “A-” และแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” เช่นเดียวกัน โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในตลาดเช่าซื้อรถยนต์และประสบการณ์ของคณะผู้บริหาร อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมเช่าซื้อทั้งรถยนต์ใหม่และรถยนต์เก่า ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศและราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงจะส่งผลกระทบด้านลบต่อความต้องการเช่าซื้อรถยนต์

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความสามารถในการดำรงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในตลาดและสามารถรักษาระดับการขยายตัวของสินเชื่อต่อไปได้ตามความคาดหมายของทริสเรทติ้ง นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงจากผลกระทบด้านลบต่างๆ

ทริสเรทติ้งรายงานว่า รายได้ดอกเบี้ยของบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง ในรอบครึ่งแรกของปี 2548 อยู่ที่ 1,021 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 5.7% จาก 966 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2547 อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำไรสุทธิลดลง 4% เนื่องจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น 29.2% อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 17.8% ในปี 2546 เป็น 20.7% ในปี 2547 และลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 20.3% สำหรับครึ่งแรกของปี 2548 สินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 9.3% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2548 โดยเพิ่มจาก 37,341 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2547 เป็น 40,829 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่ผู้บริหารคาดการณ์อัตราการเติบโตของปี 2548 ที่ 20% ยอดขายรถยนต์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปี 2547 โดยเป็นไปตามที่คาดไว้ว่าจะเติบโตในระดับประมาณ 10%-15% สำหรับทั้งปี

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง มีการใช้เงินกู้ระยะยาวทดแทนเงินกู้ระยะสั้นเดิมเพื่อให้เกิดความสอดคล้องของสินทรัพย์และหนี้สินที่ดีขึ้น และเพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น บริษัทจะเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปใช้ชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นที่ครบกำหนด บริษัทไม่ได้คิดอัตราดอกเบี้ยกับลูกค้าเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นเนื่องจากต้องการที่จะรักษาสถานะทางการตลาดของบริษัทเอาไว้ ซึ่งส่งผลทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยลดลง--จบ--