ผู้ชนะ DTAC Award ด้วยสุดยอดแผนธุรกิจ “เชื้อเพลิงทดแทนนำมันดีเซลสกัดจากยางรถยนต์เก่า”

12 Apr 2005

กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--ดีแทค

ผู้ชนะ DTAC Award ด้วยสุดยอดแผนธุรกิจเชื้อเพลิงทดแทนนำมันดีเซลสกัดจากยางรถยนต์เก่า” จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คว้ารางวัลพระราชทาน ในการประกวดแผนธุรกิจใหม่แห่งชาติ ครั้งที่ 1

ผลการประกวดแผนธุรกิจใหม่แห่งชาติ ครั้งที่ 1 (Moot Biz แห่งชาติ) ประกาศและมอบรางวัลเรียบร้อยแล้ว ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ทีมเอ็นเทค จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งคว้ารางวัล DTAC Award ก่อนหน้านี้ เป็นผู้เสนอสุดยอดแผนธุรกิจในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนดีเซลสกัดจากยางรถยนต์เก่า ชนะเลิศรางวัลพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปได้ด้วยความโดดเด่นจากความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในตลาด โดยพิจารณาจากแนวโน้มของตลาด กลุ่มเป้าหมาย คู่แข่ง และข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ มีความคิดสร้างสรรค์ในของแผนธุรกิจ, สินค้าและบริการสามารถสร้างความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในตลาด และท้ายที่สุดสามารถนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจหรือสินค้าบริการในรูปแบบใหม่

โครงการประกวดแผนธุรกิจใหม่แห่งชาติ ภาคภาษาไทย จัดขึ้นเป็นครั้งแรก มีนักศึกษาปริญญาโท ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนทั้งสิ้น 30 ผลงานจากมหาวิทยาลัย 16 แห่ง ทั่วทุกภาคของประเทศ จัดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2547–เมษายน 2548 โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) โดยดีแทคให้การสนับสนุน

โดยเบื้องหลังการจัดประกวดแผนธุรกิจใหม่แห่งชาตินี้เนื่องมาจากในปัจจุบันนโยบายของรัฐบาลต้องการให้หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ภาคราชการ ช่วยกระตุ้นและจูงใจให้เกิดการลงทุน เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ที่ได้ช่วยสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ในกลุ่มคนต่างๆ เช่น กลุ่มรากหญ้า นิสิตนักศึกษา ทั้งนี้ SMEs ไทยยังมีโอกาสเติบโตและขยายตัวออกไปได้อีกมากหากผู้ประกอบการใช้ความคิดที่สร้างสรรค์ มองหาและวิเคราะห์ช่องว่างทางการตลาด ซึ่งถ้าผู้ประกอบการใหม่สามารถมองหาช่องทาง หาช่องว่างในการขายผลิตภัณฑ์ที่แปลก ใหม่ และแตกต่าง ก็จะทำให้มีโอกาสในการแทรกตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ นอกจากนั้นธุรกิจ SMEs ยังชี้ให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย ซึ่งดีแทคได้เห็นความสำคัญนี้และได้สนับสนุนโครงการรวมทั้งได้ริเริ่มรางวัล DTAC Award ซึ่งมุ่งเน้นให้ความสำคัญในแผนธุรกิจที่มีนวัตกรรมและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้และเป็นแผนธุรกิจที่ใช้ได้จริง

สำหรับผลการตัดสิน ทีมเอ็นเทค จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คว้ารางวัลดีแทคอวอร์ด ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท ก่อนหน้านี้ยังได้รับรางวัลชนะเลิศพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นรางวัลเงินสด 100,000 บาท ส่วนมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้รับเงินสนับสนุนกิจกรรมวิชาการอีก 100,000 บาท รวมทั้งมีสิทธิขอเงินลงทุนจริงจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทอีกด้วย

ทีมเอ็นเทค ใช้เทคโนโลยีในการสกัดน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลจากยางรถยนต์เก่า โดยใช้กระบวนการผลิตและอุปกรณ์ที่ทันสมัยคิดค้นขึ้นเอง และทำงานได้จริง โดยสามารถผลิตเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลในการใช้งานอุตสาหกรรม ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้เป็นยางรถยนต์ใช้แล้วที่เป็นปัญหาในการกำจัด ทำให้ได้ต้นทุนผลิตที่ต่ำและได้น้ำมันคุณภาพสูงในราคาถูก นอกจากนี้ยังสามารถลดปัญหาที่เกิดขยะจากยางรถยนต์ใช้แล้วที่ประมาณการณ์ว่าในปีหนึ่งๆ จะมียางรถยนต์ใช้แล้วเหลือทิ้งถึง 100,000 ตันต่อปี (หรือประมาณ 100,000,000 เส้น) ซึ่งถ้าสามารถนำมาผลิตน้ำมันทั้งหมดจะได้ถึง 300 ล้านลิตร รวมทั้งถ้าสามารถบริหารจัดการได้ดีจะทำให้เกิดการสร้างงานที่เกี่ยวเนื่องในการจัดเก็บยางรถยนต์ใช้แล้วกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังมีทีมที่น่าสนใจอื่น ๆ ที่นำเสนอแผนธุรกิจต่าง ๆ เช่น

ทีมมาสเตอร์มายด์ เสนอแผนธุรกิจยาฆ่าเชื้อและรักษาแผลสดจากเปลือกมังคุด จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 50,000 บาท

ทีมน้ำดื่มเพื่อสุขภาพ เสนอแผนธุรกิจน้ำดื่มเพื่อสุขภาพผสมวิตามิน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 30,000 บาท

ทีมยัง 101 เสนอแผนธุรกิจเครื่องสำอางและสปาสำหรับผู้ชาย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 เงินรางวัล 20,000 บาท

ทีมโอเบงโตะ เสนอแผนธุรกิจอาหารสำเร็จรูปสำหรับเด็ก จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัลชมเชย เงินรางวัล 10,000 บาท.

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--