กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--กพช.
นายศิวะนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานฯ ว่า การประชุม กบง. ครั้งที่ 1/2548 วันที่ 8 เมษายน 2548 ณ กระทรวงพลังงาน มีมติเห็นชอบในหลักการให้ สบพ. ออกตราสารหนี้วงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท โดยให้เสนอขายเป็นชุดๆ ตามจำนวนเงินที่ใช้แต่ละช่วงเวลา อายุการไถ่ถอนแต่ละชุดไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องเพียงพอจ่ายเงินชดเชยตรึงราคาน้ำมัน และชำระหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนด
ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายรับประมาณ 252 ล้านบาท/เดือน ขณะที่มีรายจ่ายประมาณ 6,000 ล้านบาท/เดือน ดังนั้น การจัดหาเงินกู้ระยะยาวด้วยการออกตราสารหนี้จะทำให้กองทุนฯ สามารถบริหารสภาพคล่องให้สอดคล้องกับรายรับและรายจ่ายที่เกิดขึ้น และเมื่อภาระชดเชยราคาน้ำมันดีเซลยุติลง กองทุนฯ ก็จะสามารถสะสมรายรับจากเงินส่งเข้ากองทุนฯ ชำระคืนหนี้ตราสารหนี้ได้ต่อไป นายศิวะนันท์ กล่าว
อนึ่ง รัฐบาลใช้นโยบายตรึงราคาน้ำมันมาตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนจากวิกฤต น้ำมันเชื้อเพลิง ถึงปัจจุบัน (8 เมษายน 2548) มียอดการชดเชยจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 80,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ระดับ 18.19 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันเบนซินได้มีการปล่อยลอยตัวมาตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2547--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit