กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--ปตท..
ปตท.เผย กำไรจากการขายน้ำมันต่อหน่วยไม่ได้สูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่แพงขึ้น จะเห็นได้จากค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ยต่อลิตร ของปี2547 ยังต่ำกว่า ปี 2544 (ช่วงก่อนแปรรูป ) แต่ผลประกอบการที่ดีขึ้นมากในปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากบริษัทที่ ปตท. ไปลงทุนร่วม และมีเพียง 1-2% เท่านั้น ที่มาจากการจำหน่ายน้ำมันในประเทศ ทั้งนี้ ปี 2547 ปตท.ได้ส่งผลกำไรกลับเป็นผลประโยชน์ของประเทศในรูปภาษี และเงินปันผลกว่า 20,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นทุนสะสมเพื่อลงทุนวางเครือข่ายพลังงานเพื่อสังคม และเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณอีกเกือบ 200,000 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน ) เปิดเผยว่า จากการที่ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2547 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้ประชาชนมีข้อสงสัยว่าเป็นเพราะ ปตท. ตั้งราคาขายปลีกน้ำมันในระดับสูง จนทำให้มีผลประกอบการดีขึ้นมากนั้น ไม่เป็นความจริง แต่เหตุผลที่แท้จริงนั้นเนื่องมาจากประเทศไทยเราไม่มีแหล่งผลิตน้ำมันดิบเอง น้ำมันส่วนใหญ่ประมาณ 90% ต้องนำเข้า จึงต้องปรับราคาตามตลาดโลก โดยราคาที่แพงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คือส่วนของต้นทุนเนื้อน้ำมัน ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ (มกราคม-มีนาคม 2548) ปตท. มี ค่าการตลาดน้ำมันเบนซิน (ซึ่งรัฐได้ปล่อยให้ลอยตัวตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2547) เฉลี่ยเพียง 60-70 สตางค์/ลิตร เท่านั้น อนึ่ง ค่าการตลาดน้ำมันไม่ใช่กำไรสุทธิ แต่เป็นรายได้ของผู้ค้าน้ำมันที่หักต้นทุนเนื้อน้ำมัน แต่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเติมสารเติมแต่ง (Additive) เพื่อลดมลพิษไอเสียในรถยนต์ ค่าบริหารจัดการ ค่าจ้างพนักงานหน้าลานฯลฯ ซึ่งค่าการตลาดฯนี้ จะต้องแบ่งระหว่างผู้ค้ากับเจ้าของสถานีบริการน้ำมันด้วยซึ่งค่าการตลาดน้ำมันเบนซินเฉลี่ยที่สมเหตุผลกับธุรกิจอยู่ที่ประมาณ 1.50 บาท /ลิตร
นายประเสริฐฯ เปิดเผยด้วยว่า สำหรับปี 2547 ซึ่ง ปตท. มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานประมาณ 60,000 ล้านบาท นั้น จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่คือ 59% เป็นกำไรสุทธิที่มาจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทในเครือ เช่น จากบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) 16% จากบริษัทร่วมทุนกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี และการกลั่นรวม 43% เนื่องจากในรอบปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ธุรกิจปิโตรเคมีและ การกลั่นอยู่ในวงจรธุรกิจขาขึ้น หลังจากที่ต้องประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งบางบริษัทยังขาดทุนสะสมในปัจจุบันด้วย ส่วนกำไรสุทธิที่มาจากการดำเนินธุรกิจของ ปตท. เองมีสัดส่วนประมาณ 41% ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นกำไรสุทธิที่มาจากการดำเนินธุรกิจน้ำมันในประเทศเพียง 1-2% เท่านั้น โดยหากเปรียบเทียบค่าการตลาดเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์ระหว่างก่อน และหลังการแปรรูปแล้ว จะเห็นว่า ก่อนแปรรูป ปตท. กลับมีค่าการตลาดเฉลี่ยที่ดีกว่า คือ ปี 2544 ค่าการตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 1.18 บาท/ลิตร แต่ปี 2547 อยู่ที่ 1.10 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยกับประเทศใกล้เคียง (ที่ไม่มีแหล่งน้ำมันเอง) พบว่าราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไทยมีราคาถูกกว่าในอีกหลายประเทศ เช่น ราคาน้ำมัน ณ วันที่ 21 มีนาคม 2548 ของประเทศกัมพูชา ได้กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินลิตรละ 31.27 บาท น้ำมันดีเซลลิตรละ 23.17 บาท ลาว น้ำมันเบนซินลิตรละ 32.19 บาท น้ำมันดีเซล ลิตรละ 24.40 บาท สิงคโปร์ น้ำมันเบนซินลิตรละ 36.39 บาท น้ำมันดีเซลลิตรละ 24.12 บาท ฮ่องกง น้ำมันเบนซินลิตรละ 64.49 บาท น้ำมันดีเซล ลิตรละ 35.97 บาท เป็นต้น
อนึ่ง จากการที่ ปตท. แปรรูป ทำให้การบริหารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นช่วงจังหวะ ที่เป็นช่วงขาขึ้นของธุรกิจในกลุ่มบริษัท ปตท. จนทำให้มีผลประกอบการที่ดีขึ้นมากนั้น ส่งผลให้ปัจจุบัน ปตท. สามารถสร้างประโยชน์หรือมูลค่าคืนให้แก่ประชาชนและประเทศได้มากขึ้น ดังนี้.-
ที่มา : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
โทร. 0-2537-2159,0-2537-2163--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit