กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--ปภ.
นายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ลักษณะอากาศของประเทศไทย ในขณะนี้ ได้เข้าสู่ฤดูฝน หรือฤดูมรสุมแล้ว โดยเริ่มมีฝนตกชุกในภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และโคลนถล่ม ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ราบลุ่ม หรือบริเวณเชิงเขา เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกัน แก้ไข ปัญหาอุทกภัย วาตภัยและโคลนถล่ม ช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ขึ้น ในส่วนกลาง ณ กรมป้องกันฯ พร้อมแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ในระดับจังหวัดขึ้น ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ โดยให้ทำหน้าที่ ทั้งในด้านการเตรียมการ และช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยในการเตรียมการ ให้เร่งจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ให้พร้อมสำหรับใช้งานได้ทันที ติดตามสภาพอากาศ ตรวจสอบปริมาณน้ำฝน แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมรับสถานการณ์ ประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหาพื้นที่รองรับน้ำ (แก้มลิง) เพื่อให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่อุทกภัยอย่างรวดเร็ว ติตตั้งเครื่องแจ้งเตือนภัย และเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน ในหมู่บ้านเสี่ยงภัย ตลอดจนจัดให้มีการฝึกซ้อมแผนอพยพหนีภัย
นายสุนทร กล่าวต่อไปว่า สำหรับด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รัฐบาลยังได้สำรองเงินทดรองราชการในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ในอำนาจอนุมัติของผู้ว่าราชการจังหวัด 50 ล้านบาท ซึ่งวงเงินดังกล่าวนี้ สามารถนำไปจัดซื้อจัดจ้าง วัสดุ สิ่งของเพื่อช่วยเหลือประชาชน ทั้งกรณีเร่งด่วนเฉพาะหน้า ขณะเกิดภัย ก่อนเกิดภัย พร้อมให้จังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อเบิกจ่ายเงินจากคลังจังหวัดมาใช้ในการแก้ไขและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หากงบประมาณจำนวน 50 ล้านบาท ในอำนาจอนุมัติของผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เพียงพอ สามารถขอเพิ่มจากรัฐบาลผ่านกระทรวงต่างๆ ได้อีก จนกว่าภัยพิบัติจะสิ้นสุด นอกจากนี้ กรมป้องกันฯ ยังได้จัดประชุมชี้แจง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้ง 51 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม เพื่อซักซ้อมการจัดทำแผนอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องตรวจวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่ยอดเขา จึงต้องขอความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำ จัดอาสาสมัครคอยหมั่นสังเกตปริมาณน้ำฝน หากพบสิ่งผิดปกติ ขอให้รีบแจ้งกรมป้องกันฯ และชาวบ้านในพื้นที่ทราบ โดยด่วน เพื่อจะได้อพยพหนีภัยได้ทันท่วงที สุดท้ายนี้ ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดใส่ใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง เป็นกรณีพิเศษ--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit