ก.พลังงาน เร่งส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากขยะ เผยผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 5.1 ล้านหน่วย

16 Dec 2004

กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--กระทรวงพลังงาน

กระทรวงพลังงาน สนับสนุนจังหวัดระยองผลิตไฟฟ้าจากขยะ เผยช่วยกำจัดขยะเปียกได้วันละ 60 ตัน พร้อมผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 5.1 ล้านหน่วย และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ปีละ 5,000 ตัน

นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการเป็นประธานเปิดโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงาน จ.ระยอง ว่า เพื่อผลักดันการพัฒนาแหล่งพลังงานภายในประเทศ อาทิ พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม น้ำ และชีวมวล ให้ได้ตามเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจาก 0.5% เป็น 8% ภายในปี 2554 กระทรวงพลังงาน จึงได้มีการส่งเสริมและพัฒนาด้านพลังงานทดแทนในหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนงบประมาณจากจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งส่งผลให้ประเทศประหยัดค่านำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้หลายหมื่นล้านบาท

สำหรับ โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงาน จังหวัดระยอง เป็นอีกหนึ่งโครงการ ที่กองทุนฯ สนับสนุนงบประมาณ ให้เทศบาลนครระยอง จังหวัดระยอง ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน นำร่องโครงการผลิตไฟฟ้าจากจากขยะมูลฝอย และเป็นโครงการต้นแบบในการจัดตั้งศูนย์แปรรูปขยะ เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิต 625 กิโลวัตต์ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการศึกษาวิจัยและพัฒนาประมาณ 18 เดือน โดยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่าปีละ 5.1 ล้านหน่วย และผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบได้ประมาณปีละ 3.8 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นเงินได้ประมาณ 5.8 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งผลิตปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 5,562 ตันต่อปี หรือคิดเป็นเงินได้ประมาณ 5.6 ล้านบาทต่อปี

ด้าน นายวรวิทย์ ศุภโชคชัย นายกเทศมนตรีเทศบาลนครระยอง เปิดเผยว่า ปัจจุบันเขตเทศบาลมีขยะเปียกจำนวน 40-45 ตันต่อวัน ซึ่งได้สร้างปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอยเป็นอย่างมาก เพราะมีปริมาณขยะมากและใช้วิธีกำจัดขยะที่ไม่ถูกหลักสุขาภิบาล ประกอบกับจังหวัดระยองเป็นแหล่งเกษตรกรรมมีพืชผลทางเกษตรโดยเฉพาะผลไม้มากมาย ซึ่งเปลือก ผลไม้เมื่อไม่ได้รับการจัดเก็บและกำจัดอย่างถูกสุขาภิบาล ส่งผลให้เกิดการเน่าเสียกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน และเกิดทัศนียภาพไม่เหมาะสมกับการเป็นเมืองท่องเที่ยว

ดังนั้น เทศบาลนครระยองจึงได้ดำเนินโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงาน จังหวัดระยอง โดยได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกว่า 142 ล้านบาท เทศบาลนครระยอง 28.3 ล้านบาท มูลนิธิเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน 3 ล้านบาท บริษัท Skanska ประเทศสวีเดน และบริษัท Fortum ประเทศฟินแลนด์ 45.4 ล้านบาท

โดยได้ออกแบบโรงงานให้รองรับขยะ 2 ส่วน คือ ขยะอินทรีย์ ที่มีอยู่วันละ 20 ตัน และส่วนที่ 2 ขยะมูลฝอยทั่วไปที่ผ่านการรีไซเคิลและขยะพิษ จำนวนวันละ 50 ตัน

สำหรับเทคโนโลยีที่ได้นำมาใช้เป็นระบบย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Digestion) เป็นกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพที่ย่อยเศษอาหารโดยมีน้ำเป็นตัวกลาง โดยเริ่มจากนำขยะมูลฝอยที่คัดแยกแล้วส่งเข้าเครื่องบดย่อยให้มีขนาดที่เหมาะสม จากนั้นจะส่งเข้าถังเตรียม (Feed Preparation) เพื่อแยกสิ่งปะปน เช่น กรวด ทราย พลาสติก และส่งต่อไปหมักในถังปฏิกริยาชีวภาพ (Bioreactor) ซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายจุลินทรีย์แบบไร้ออกซิเจนพวกเมโซไฟส์ (Mesophiles) ภายในถังมีใบพัดสำหรับกวนส่วนผสมต่างๆ ให้เข้ากันเป็นอย่างดี และช่วยป้องกันปัญหาการเกิดฟอง โดยใช้เวลาในการหมักประมาณ 20 วัน ภายใต้อุณหภูมิประมาณ 30-38 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดก๊าซชีวภาพที่มีก๊าซมีเทนประกอบอยู่ประมาณ 60 %นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้เป็นปุ๋ยอินทรีย์จากกากตะกอน อีกด้วย

โดยก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวที่นำมาใช้ในโครงการฯ สามารถรองรับปริมาณขยะเปียกได้ประมาณวันละ 60 ตัน ซึ่งจะส่งผลให้ช่วยลดปริมาณขยะของจังหวัดระยองได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังเป็นการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ จึงเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับผลการดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547 ได้มีการทดลองเดินระบบอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สามารถกำจัดขยะในเขตเทศบาลได้ประมาณ 10-15 ตันต่อวัน ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้จำนวน 3 ตันต่อวัน และผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 870-1,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ดังนั้นในขั้นต่อไปโครงการฯ จะเร่งทำการพัฒนาอุปกรณ์ให้มีคุณสมบัติสอดคล้องกับปริมาณขยะ เพื่อให้ได้ก๊าซชีวภาพมาผลิตกระแสไฟฟ้า ตามเป้าหมายต่อไป--จบ--