ทส.จับมือที่ปรึกษาโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ สร้างโครงการธนาคารอาหารชุมชน บ้านทิพุเย

22 Nov 2004

กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายสุวัช สิงหพันธุ์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ จัดทำโครงการธนาคารอาหารชุมชนตามพระราชดำริ (Food Bank) ในพื้นที่หมู่บ้านรอยตะเข็บแนวชายแดนบ้านทิพุเย ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ขึ้น ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวกะเหรี่ยงที่บ้านทิพุเย โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร และการส่งเสริมอาชีพให้ราษฎร สามารถพึ่งตนเองได้ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงมีพระราชเสาวนีย์ สรุปความว่า

“ทรงมีความห่วงชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ตำบลชะแลและต้องพระประสงค์ที่จะให้เป็นหมู่บ้านผลิตอาหารได้” โดยได้ทรงพระราชทานเงินสำหรับเป็นทุนในการจัดตั้งธนาคารข้าวให้กับบ้านทิพุเย 100,000 บาท เพื่อให้เป็นหมู่บ้านตัวอย่างธนาคารอาหารชุมชนตามพระราชดำริ (Food Bank) โดยมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน”

นายสุวัชกล่าวว่าหลักการที่สำคัญของการดำเนินโครงการนี้ คือ

การฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร

การสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การสร้างความเข้มแข็งชุมชน เพื่อให้ชุมชนพึ่งตัวเองได้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ด้วยระบบเกษตรแบบยั่งยืนและศิลปาชีพ

“โครงการธนาคารอาหารชุมชน ตามพระราชดำริ บ้านทิพุเยฯ นี้ ได้เริ่มดำเนินงานในปี 2546 ที่ผ่านมา ซึ่งผลสำเร็จของงานภายหลังครบรอบ 1 ปีนั้น คือ การทำให้ราษฎรในพื้นที่ยอมรับการปลูกป่าแนวกันชน ซึ่ง สามารถลดปัญหาการบุกรุกทำลายป่า เพิ่มความเป็นมิตรระหว่างราษฎร และเจ้าหน้าที่อุทยาน ตลอดจนทำให้ราษฎรที่อยู่ขอบชายป่าติดแนวกันชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าแนวกันชนด้วย รวมทั้งยังประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้ราษฎรได้ร่วมปลูกและดูแลรักษาป่าพื้นบ้านอาหารชุมชน ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม 50 ไร่ จำนวน 10,929 ต้น และโครงการนี้ยังได้สร้างให้เกิดการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยได้มีการดำเนินงานจัดทำพื้นที่กักเก็บน้ำ ฝายกั้นน้ำ ระบบส่งน้ำและกระจายน้ำ รวมถึงสร้างแผนการบริหารจัดการน้ำให้กับหมู่บ้าน เพื่อใช้ในโครงการธนาคารอาหารชุมชนตามพระราชดำรินี้ พร้อมกันนี้ยังได้สร้างการมีส่วนร่วมในการทำฝายอนุรักษ์ต้นน้ำตามพระราชดำริในลำห้วย 2 สาย จำนวน 16 ฝาย ด้วย”

นอกจากนี้ ทางกรมฯ ยังได้เข้าไปจัดกิจกรรมอบรมราษฎร เพื่อสร้างความเข้มแข็งชุมชน และสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในกลุ่มราษฎร อันทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีการรวมตัวกันตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นในหมู่บ้าน ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการบริหารกองทุน ธนาคารอาหารชุมชน (Food Bank) บ้านทิพุเยอีกด้วย

ส่วนการพัฒนาอาชีพการเกษตรแบบยั่งยืนแก่ราษฎรนั้น ชาวบ้านมีความกระตือรือร้นในการเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ จากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ได้เข้าไปให้ความรู้เรื่องการปลูกไม้ผล ข้าวไร่ พืชผัก ซึ่งจากการศึกษาสภาพดินและภูมิอากาศ ผู้เชี่ยวชาญจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้แนะนำว่า บ้านทิพุเย เหมาะสมที่จะปลูกไม้ผล ประเภท ส้มโอและส้มโชกุน และพืชไร่ได้แก่ ข้าวไร่ ข้าวโพด ข้าวโพดฝักอ่อน

อย่างไรก็ตามการดำเนินงานในช่วงต่อไปของโครงการนี้ ทางเครือเจริญโภคภัณฑ์จะให้ความช่วยเหลือทางด้านการพัฒนาอาชีพการเกษตรแบบยั่งยืนต่อไป โดยจะจัดทำโครงการปลูกพืชระยะสั้นควบคู่ไปกับการดูแลรักษาแปลงส้ม ตลอดจนดูแลด้านการตลาดอย่างครบวงจร นอกจากนี้ยังจะมีการจัดพัฒนาพื้นที่แปลงทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ส่วนกลาง 10 ไร่ ให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมตัวอย่างขนาดเล็กที่เหมาะสมสำหรับชุมชน รวมทั้งพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์สำหรับธนาคาร เพื่อให้สามารถนำไปดำเนินการบริหารจัดการธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช โดยการจัดหาและให้ยืมเมล็ดพันธุ์พืชแก่ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งดำเนินการจัดทำธนาคารปุ๋ยชีวภาพ เพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบธรรมชาติ และจัดทำศูนย์สาธิตแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนกะเหรี่ยงการฝึกอบรม ตลอดจนจัดกิจกรรมการสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สำหรับตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการธนาคารชุมชนฯ นี้ คือ

1. สร้างชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งพาตัวเองได้

2. ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3. มีแหล่งกองทุนหมุนเวียนสำหรับการพัฒนาอาชีพ 4.มีกองทุนปุ๋ยสำหรับให้ราษฎรยืม หรือขายเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนได้ตลอดไป

5. มีธนาคารเมล็ดพันธ์พืชให้ราษฎรยืม และใช้คืนเพื่อมีผลผลิต

6. เพิ่มจำนวนต้นไม้ให้กับป่าต้นน้ำลำธาร และ

7. มีป่าที่เป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับชุมชน--จบ--