6 เอ็นจีโอเอดส์ สร้างแผนธุรกิจ รับกระแสวัน “เอดส์โลก” หวังภาครัฐและเอกชนร่วมสนับสนุน ให้องค์กรเอดส์ยืนได้ด้วยตนเอง

30 Nov 2004

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--กู๊ด มอร์นิ่ง มันเดย์

เอ็นจีโอด้านเอดส์ 6 แห่งในเมืองไทย สร้างมิติใหม่ในการสู้เอดส์รับกระแสวัน “เอดส์โลก” สร้างแผนธุรกิจนำร่อง หารายได้หล่อเลี้ยงองค์กรและลดการพึ่งพาเงินทุนจากภายนอก หวังเป็นอีกหนึ่งแนวทางสู้เอดส์แบบยั่งยืน เชื่อมั่นการให้ความรู้ทางธุรกิจจะช่วยองค์กรเอดส์ในไทยและทั่วโลกยืนได้ด้วยตนเอง หวังภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ เข้าร่วมสนับสนุนความรู้และให้แนวทางต่อเนื่อง

เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มเอ็นจีโอ ด้านเอดส์จำนวน 6 แห่ง โดยความร่วมมือของ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (พีดีเอ) และบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค ได้เข้าสู่โครงการช่วยเอดส์ระดับโลกของ Positive Action ที่ให้ทุนสนับสนุนการจัดอบรมหลักสูตรพิเศษ ที่ส่งเสริมให้องค์กรพัฒนาเอกชนได้ริเริ่มพัฒนาธุรกิจของตัวเองขึ้น เพื่อหารายได้ช่วยตนเองแทนการพึ่งพึงเงินช่วยเหลือจากภายนอกอย่างเดียว

ทั้งนี้ นางรชนิศ ไชยบาล หนึ่งในเอ็นจีโอ จากเครือข่ายผู้ติดเชื้ออำเภอดอยสะเก็ด เปิดเผยในระหว่างการอบรมหลักสูตร “ความจำเป็นในการสร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนขององค์กร” ว่า “ ขณะนี้ทางกลุ่มได้รับเงินช่วยเหลือมาจาก Global Fund แต่ไม่รู้ว่าในอนาคตความช่วยเหลือที่ได้รับจะสิ้นสุดหรือต่อเนื่องไปถึงเมื่อไหร่ เท่ากับเรายังตกอยู่ในสถานภาพที่ไม่มั่งคง ทั้งทางการเงินและความช่วยเหลือ ทุกวันนี้ ถ้าทางกลุ่มติดต่อขอรับเงินบริจาคก็อาจถูกมองว่าไปรบกวนภายนอกมากเกินไป”

ขณะที่นายสุรชัย พนากิจสุวรรณ เอ็นจีโอ จากสมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ กล่าวว่า “โดยปกติแล้ว เอ็นจีโอ มักไม่ได้รับโอกาสเรียนรู้ทางด้านธุรกิจจากบุคลากรระดับมืออาชีพ ดังนั้น การอบรมให้ความรู้ทางธุรกิจมีค่าต่อพวกเราอย่างมาก เป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่าย ๆ ทำให้เอ็นจีโอ มีมุมมองที่กว้างขึ้น เห็นภาพและทิศทางการนำกลุ่มให้อยู่แบบยั่งยืนได้อย่างชัดเจน ซึ่ง ผมคิดว่า เอ็นจีโอ ทุกกลุ่มควรได้รับความรู้แบบนี้ โครงการให้ความรู้และอบรมแบบนี้เป็นแนวทางใหม่ ๆ ที่คุ้มค่ากับการพัฒนาเอ็นจีโอ เนื่องจากหาก เอ็นจีโอ มีทักษะทางธุรกิจก็ย่อมสามารถหาเลี้ยงองค์กรตนเองได้ ช่วยลดภาระของภาครัฐลง และสามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้มากขึ้น”

ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ เอ็นจีโอด้านเอดส์ ได้เรียนรู้ทักษะการบริหารจัดการด้านธุรกิจ และริเริ่มก้าวแรกในการสร้างแผนธุรกิจขึ้นด้วยตนเอง รับกระแสวันเอดส์โลกที่จะมาถึงในวันที่ 1 ธันวาคมนี้

แผนงานที่กลุ่มเอ็นจีโอ ได้คิดสร้างสรรค์ขึ้น ในการอบรมที่เพิ่งผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อจัดตั้งเป็นบริษัท ซึ่งจะแยกออกจากหน่วยงานสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นโครงการที่น่าสนใจยิ่ง อาทิ “ศูนย์การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพพิเศษ (สุขภาพทางเพศ)” โดยโครงการเพื่อนชายรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพ (เอ็มพลัสเชียงใหม่) มีแนวคิดจัดทัวร์ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพแบบองค์รวม โดยสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและเพศศึกษา ขณะที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี นำเสนอแผนพัฒนาธุรกิจ “ผ้าปักมือ” ระดมบุคลากรในชุมชนและบ้านพักฉุกเฉิน ช่วยสร้างผลิตภัณฑ์ ผ้าปักมือ ที่มีการดีไซน์ร่วมสมัยและนำเข้าเป็นสินค้า OTOP ของเขตดอนเมือง ส่วนชมรมเพื่อนวันพุธ เสนอแผนธุรกิจ “บริษัท เพื่อนวันพุธ – สินค้าหัตถกรรม” ที่จะมีโลโก้ของกลุ่มเอง มูลนิธิจักราชพัฒนา จ. นครราชสีมา เสนอแผนพัฒนาธุรกิจ “ร้านอาหาร Cabbages and Condoms – จักราช” โดยขยายกลุ่มเป้าหมายและให้บริการแบบครบวงจร และเครือข่ายผู้ติดเชื้ออำเภอดอยสะเก็ด จ.เชียงราย เสนอแผน “ร้านมินิมาร์ท กิ๋นลำ” ในโรงพยาบาลดอยสะเก็ด รวมทั้งสมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ ได้นำเสนอแผน “เกียรติบัตรรับรองมาตรฐาน ASO (AIDS-response Standard Organization”

“ประเทศไทยยังมีผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นจำนวนมากที่ต้องการการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง จีเอสเค หวังว่าการมีส่วนร่วมนำแนวคิดเสริมสร้างความรู้กลุ่มเอ็นจีโอให้อยู่ได้ด้วยตนเอง จะช่วยพัฒนาศักยภาพขององค์กรให้สามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างยั่งยืน แต่โครงการของกลุ่มเอ็นจีโอ คงไม่สามารถเกิดขึ้นสมบูรณ์ทันที หากขาดการสนับสนุนในเชิงการให้คำปรึกษา และการช่วยแนะแนวทางอย่างเป็นรูปธรรม จากองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนอย่างต่อเนื่อง” ภญ.กรองทอง ไมตรีเวช ผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการ ของจีเอสเค กล่าว

โครงการดังกล่าวยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันและหน่วยงานต่างๆที่เข้าร่วมเป็นวิทยากร ได้แก่ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสาน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น

ปัจจุบัน กลุ่มเอ็นจีโอ ด้านเอดส์ในเมืองไทย ยังมีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งหากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก็อาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่ของสังคมเกี่ยวกับเอดส์ต่อไปข้างหน้า และการสนับสนุนแนวใหม่ด้วยการให้ความรู้แก่บุคลากรและเอ็นจีโอ น่าจะเป็นมิติใหม่ที่เปิดศักราชใหม่ให้กับการช่วยเหลือผู้เป็นเอดส์ ของประเทศไทยได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ

สื่อมวลชนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ :

คุณอารีรัตน์ ตั้งเลิศไพบูลย์

คุณณัฐภรณ์ สถิรกุล และเขมวไล ธีรสุวรรณจักร

ผู้จัดการแผนกองค์กรสัมพันธ์

ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์

บริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด

บริษัท กู๊ด มอร์นิ่ง มันเดย์ จำกัด

โทร 02-659-3093

โทร 02-905-1231-2 หรือ 02-570-6770

แฟ็กซ์ 02-659-3197

แฟ็กซ์ 02-905-1232

อีเมล์ [email protected]

อีเมล์ [email protected]จบ--