กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--บีโอไอ
กิจการผลิตเครื่องดื่ม ของบริษัท ซานมิเกล
กิจการผลิตหนังฟอก ของพี.เอส.เลเธอร์
กิจการผลิต Steel Tyre Cord ของบริษัท สยามสตีลคอร์ด
กิจการผลิต STEEL STRUCTURE ของบริษัท อิตาเลียนไทย
กิจการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน ของบริษัท จีสตีล
กิจการผลิต FUEL INJECTION PUMP, DIESEL INJECTOR และ COMMON RAIL
กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าไอน้ำและน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 2 โครงการ
กิจการผลิตเยื่อกระดาษ ของบริษัท เอเวอร์กรีนพลัส
นายสาธิต ศิริรังคมานนท์ เลขาธิกาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย ภายหลังการประชุม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ)ซึ่งมี พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนจำนวน 9 โครงการ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 23,444.04 ล้านบาท ดังนี้
กิจการผลิตเครื่องดื่มจากพืชผักผลไม้บรรจุภาชนะผนึก ของ บริษัท ซาน มิเกล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ San Miguel Corporation ประเทศฟิลิปปินส์ ดำเนินกิจการผลิตเครื่องดื่มจากพืชผักผลไม้ บรรจุภาชนะผนึก ปีละประมาณ 22 ล้านลิตร มีมูลค่าการลงทุน 669.8 ล้านบาท โดยตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ตามโครงการจะผลิตเครื่องดื่มจากพืชผักผลไม้ บรรจุภาชนะผนึกเพื่อจำหน่ายในประเทศ มีปริมาณการผลิตและจำหน่ายประมาณ 1.5, 3.6 , 7.3 ,12.4และ 16.2 ล้านลิตร ในปีที่ 1ถึงปีที่ 5 ซึ่งจะใช้วัตถุดิบในประเทศ น้ำตาล น้ำพืชผักผลไม้เข้มข้นและบรรจุภัณฑ์ ร้อยละ 40 ส่วนวัตถุดิบต่างประเทศ PET Flavor ร้อยละ 60
บีโอไอให้การส่งเสริมโครงการนี้ ในประเภทกิจการผลิตหรือถนอมอาหาร หรือสิ่งปรุงแต่ง อาหาร ซึ่งโครงการนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และได้รับการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักร
กิจการผลิตหนังฟอกและหนังแต่งสำเร็จ ของบริษัท พี.เอส.เลเธอร์ อินดัสทรีส์ จำกัด มูลค่าการลงทุน 214.04 ล้านบาท ดำเนินกิจการผลิตหนังฟอก ปีละประมาณ 3,840,000 ตารางฟุต หรือหนังแต่งสำเร็จ ปีละประมาณ 6,240,000 ตารางฟุต ตั้งโรงงานที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส (เขต 3พิเศษ) โครงการนี้ใช้วัตถุดิบในประเทศจำพวก หนังโค หนังกระบือ และสารเคมี ร้อยละ 24
บีโอไอพิจารณาเห็นว่า การผลิตในโครงการนี้ เป็นการผลิตขั้นต้นของอุตสาหกรรมเครื่องหนัง เพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมผลิตเครื่องหนังสำเร็จรูป รวมทั้งเพิ่มมูลค่าของหนังฟอกและหนังแต่งสำเร็จในประเทศ ช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบขั้นต้นจากต่างประเทศ และช่วยกระจายการผลิตจากสมุทรปราการไปสู่ภูมิภาคที่ใกล้แหล่งหนังดิบโดยเป็นโรงงานฟอกหนังและแต่งหนังสำเร็จแห่งแรกในภาคใต้ จึงได้อนุมัติให้การส่งเสริมในประเภท กิจการฟอกหนังสัตว์ แต่งสำเร็จหนังสัตว์ หรือตกแต่งขนสัตว์ โดยได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีโดยไม่กำหนดสัดส่วน เนื่องจาก ตั้งโรงงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
กิจการส่งเสริมขยายกิจการ ผลิต Steel Tyre Cord ของบริษัท สยามสตีลคอร์ด จำกัด มูลค่าการลงทุน 1,907 ล้านบาท โครงการนี้ได้รับการส่งเสริมเพื่อขยายกิจการผลิต Steel Tyre Cord เป็นผลิตภัณฑ์ลวดเหล็กใช้เสริมหน้ายางรถยนต์สำหรับรถที่บรรทุกน้ำหนักมาก ปีละประมาณ 7,000 ตัน ซึ่ง ร้อยละ 40 จะจำหน่ายในประเทศให้แก่บริษัท ยางสยามอุตสาหกรรม จำกัด ที่โรงงานในเขตอุตสาหกรรมเครือซีเมนต์ไทย จ.สระบุรี ร้อยละ 60 ส่งจำหน่ายตลาดต่างประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา โครงการนี้ ได้รับส่งเสริมในประเภทกิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ รวมทั้งชิ้นส่วนโลหะ โดยจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 8 ปี
กิจการส่งเสริมขยายกิจการ ผลิต STEEL STRUCTURE ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)มูลค่าการลงทุน 2,200 ล้านบาท โครงการนี้ได้รับการส่งเสริมเพื่อขยายกิจการผลิต STEEL STRUCTUREปีละประมาณ 7,000 ตัน ตั้งโรงงานในจังหวัดฉะเชิงเทรา (เขต 2) STEEL STRUCTURE เป็น แท่นปฏิบัติการผลิตก๊าซและน้ำมันปิโตรเลียมสำหรับติดตั้งในทะเล หรือเรียกว่า แท่นผลิต เพื่อแยกสารที่ไม่ต้องการออกก่อนเริ่มกระบวนการแยกน้ำมันและก๊าซออกจากกัน มีขนาดประมาณ 60 * 60 * 40 เมตร น้ำหนักประมาณ 12,000 ถึง 15,000 ตัน ยังไม่มีผู้ผลิตในประเทศโดยความต้องการใช้แท่นผลิตในอ่าวไทยช่วง 5ปีที่ผ่านมา จำนวน 5แท่น ประมาณ 70,000 ตัน เป็นการนำเข้าทั้งสิ้น
จากประมาณการความต้องการตามแผนการพัฒนาปิโตรเลียม พบว่า ความต้องการแท่นผลิตมีประมาณ 66,000 ตัน เป็นลูกค้าในประเทศ ร้อยละ90 อีกร้อยละส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม บีโอไอ จึงให้การส่งเสริมโครงการนี้ในประเภท กิจการผลิตโครงสร้างโลหะที่ใช้ในการก่อสร้างหรืออุปกรณ์สำหรับงานอุตสาหกรรม โดยได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนอากรขาเข้าเครื่องจักรกึ่งหนึ่ง เฉพาะเครื่องจักรที่มีอากรขาเข้าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ไม่เกินวงเงินลงทุนและยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผล
กิจการส่งเสริมขยายกิจการ ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กแผ่นรีดร้อนปรับสภาพผิว ของบริษัท จีสตีล (มหาชน) มูลค่าการลงทุน 14,350ล้านบาท ตั้งโรงงานในเขตอุตสาหกรรมของบริษัท สุขุมวิท อินเตอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จังหวัดระยอง โครงการนี้เป็นการขยายกิจการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กแผ่นรีดร้อนปรับสภาพผิว ปีละประมาณ 1,600,000 ตัน โดยผลิตภัณฑ์ตามโครงการ ร้อยละ 56 เป็นเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน นำไปผลิตท่อเหล็กรูปพรรณ รีดเย็น ถังก๊าซ ส่วนร้อยละ 44 เป้นเหล็กแผ่นรีดร้อนปรับสภาพผิวนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เคลือบดีบุก โครเมี่ยม นำไปผลิตเฟอร์นิเจอร์ ยานยนต์และชิ้นส่วน
อุตสาหกรรมเหล็กถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญต่อประเทศมีการลงทุนที่สูงมาก ระยะเวลาคืนทุนนานควรสนับสนุนเพื่อทดแทนการนำเข้า อีกทั้งความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมประเภทนี้มีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า ความต้องการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนในประเทศไทยจะเติบโตในอัตราร้อยละ 5-7 ทั้งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็น และในอุตสาหกรรมต่อเนื่องกลุ่มยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยคาดว่าความต้องการจะถึงระดับ 9 ล้านตัน ในปี 2553
บีโอไอ ให้การส่งเสริมในประเภท กิจการผลิตเหล็กทรงแบน ประเภทย่อย กิจการผลิตเหล็กรีดร้อนหรือรีดเย็น ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และลดหย่อนอากรขาเข้าร้อยละ 75 ของอัตราปกติสำหรับวัตถุดิบ 5ปี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี รวมไม่เกินวงเงินลงทุน
กิจการส่งเสริมขยายกิจการ ผลิต FUEL INJECTION PUMP, DIESEL INJECTOR และ COMMON RAIL ของ บริษัท สยาม เด็นโซ่ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด มูลค่าการลงทุน 974 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี เขต 2 โครงการนี้ได้รับส่งเสริมเพื่อขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนในระบบ COMMON RAIL ได้แก่ FUEL INJECTION PUMP ปีละประมาณ 132,000 ชิ้น DIESEL INJECTOR ปีละประมาณ 528,000 ชิ้น และ COMMON RAIL ปีละประมาณ 156,000 ชิ้น ชิ้นส่วนทั้ง 3 เป็นอุปกรณ์หลักของระบบการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงระบบ COMMON RAIL DIRECT INJECTION ในเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งโครงการนี้เป็นการเพิ่มกำลังผลิตจากโครงการเดิมเพื่อรองรับการขยายกำลังผลิตของลูกค้าเดิม คือ โตโยต้า และลูกค้าใหม่ คือ อิซูซุ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการผลิตชิ้นส่วนหลักใน ELECTRONIC FUEL INJECTION SYSTEM ซึ่งเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ บีโอไอจึงให้ส่งเสริมโดยได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้น อากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าไอน้ำและน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ของ บริษัท พีทีที ยูทิลิตี้ จำกัด มูลค่าการลงทุน 1,930 ล้านบาท ได้รับส่งเสริมเพื่อผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ มีกำลังผลิตไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 150 ตัน/ชั่วโมงและน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 125 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ตั้งโรงานที่นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก จังหวัดระยอง ทั้งนี้ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการนี้จะถูกจำหน่ายให้แก่ บริษัท มาบตาพุด อินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด 33 เมกะวัตต์ และ บริษัทในเครือที่ถือหุ้นซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต่อเนื่อง ได้แก่ บริษัท ทีโอซี ไกลคอล จำกัด 15 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือ 2 เมกะวัตต์ จะใช้เองในโครงการ
โครงการนี้ ได้รับส่งเสริมจากบีโอไอ ในประเภทกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไอน้ำ และ กิจการประปาหรือน้ำเพื่ออุตสาหกรรม โดยได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
กิจการขอรับการส่งเสริม ผลิตพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำ ของบริษัทโรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่นจำกัด มูลค่าการลงทุน 1,200 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่ อ.ภูเขียว จ.ขอนแก่น มีกำลังผลิตไฟฟ้า 30เมกะวัตต์ และไอน้ำ 135 ตัน/ชั่วโมง โดยผลิตเพื่อจำหน่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต20 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้บริษัทฯในเครือ 5 เมกะวัตต์ และส่วนที่เหลือใช้ในโครงการ
โครงการนี้เป็นการใช้พลังงานทดแทนสอดคล้องกับนโยบายลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งบีโอไอให้การส่งเสริมโดยได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
กิจการผลิตเยื่อกระดาษและไฟฟ้า ของบริษัท เอเวอร์กรีนพลัส โดยจะทำการผลิตเยื่อกระดาษ ปีละประมาณ 400,000 ตัน ผลิตไฟฟ้า ปีละประมาณ 10 เมกะวัตต์ (24 ชั่วโมง/วัน : 330 วัน/ปี) ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 7,740 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 600 คน โดยจะใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ คิดเป็นมูลค่ารวม 2,326.75 ล้านบาท/ปี ตั้งโรงงานอยู่ที่ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
ซึ่งโครงการนี้จะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 8 ปี และได้รับการยกเว้นภาษีขาเข้าเครื่องจักร มูลค่า 134.16 ล้านบาท--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit