กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
อาจารย์ประพันธ์พิศ สิตภาหุล หัวหน้าฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า จากสถิติล่าสุดในปี 2546 มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีกว่า 7,096 รายต่อปี และผู้ป่วยนอกตาม OPD ต่างๆ อีกมาก ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีทั้งผู้ป่วยมะเร็งระบบทางเดินหายใจ เช่น มะเร็งปอด ผู้ป่วยมะเร็งระบบทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร รวมทั้งมะเร็งระบบสืบพันธุ์ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยมะเร็งตับ มะเร็งในเม็ดเลือด ที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เกินครึ่ง เมื่อรู้ว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งจะมีความเครียด ทำให้มีผลต่อการรักษาของทีมแพทย์ อาการที่พบมากคือ เบื่ออาหาร และไม่ยอมรับประทานอาหารตามที่แพทย์แนะนำ ร่วมก็ได้ ประกอบกับหลังเข้ารับการรักษาแบบเคมีบำบัดและรังสีบำบัดแล้ว จะส่งผลต่อร่างกายหลายระบบ เช่น การย่อยอาหาร มีโอกาสทำให้ร่างกายผู้ป่วยขาดสารอาหาร เพราะรับประทานอาหารไม่ได้ มีอาการเบื่ออาหาร ปากแห้ง คอแห้ง คลื่นเหียนอาเจียน การรับรสชาติเปลี่ยนแปลงไปและการเมตาบอลิซึมของร่างกายผิดปกติไปจากเดิม เช่น ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจะมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูก มีอาการอักเสบของเยื่อบุภายในช่องท้องร่วมด้วย เหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยมีร่างกายที่อ่อนแอลง และมีรูปร่างผอมเพราะน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ผู้ป่วยและญาติส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรับประทานอาหารของผู้ป่วยมะเร็ง เช่น การห้ามรับประทานเนื้อสัตว์หรือโปรตีนที่มีคุณภาพดีจากอาหารต่างๆ เพราะกลัวว่าจะทำให้เนื้อร้ายกำเริบโตเร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยอาจขาดสารอาหารที่จะไปสร้างพลังงาน สร้างภูมิเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็ง ซึ่งจากการวิจัยแล้วพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งจำเป็นต้องได้รับพลังงานมากกว่าคนปกติทั่วไป ยิ่งผู้ป่วยมะเร็งปอดต้องการพลังงานมากถึง 55-60% ของพลังงานทั้งหมด ผู้ป่วยมะเร็งตับและตับอ่อน การสร้างอินซูลินในร่างกายจะผิดปกติ จึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารประเภทแป้งและคาร์โบไฮเดรต และไขมัน ให้เหมาะสมพอเพียงต่อร่างกาย ในขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งในเม็ดเลือดควรรับประทานผักหรือผลไม่สด เนื้อสัตว์ต่างๆ และพลังงานให้ครบสมบูรณ์ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังเรื่องอาหารไม่ให้มีสารพิษและแบคทีเรียต่างๆ กลุ่มนี้ต้องระวังเรื่องอาหารเป็นพิเศษ คืออาหารต้องสุก สะอาด ปลอดภัย
“หลักการโภชนบำบัดจะช่วยผู้ป่วยโรคมะเร็งแต่ละประเภทและแต่ละช่วงอาการของโรค ซึ่งในแต่ละคน แต่ละระบบที่เป็นจะมีแผนการให้โภชนบำบัดแตกต่างกันไป โดยทีมแพทย์จะทำงานร่วมกับเภสัชกร นักโภชนาการ พยาบาล นักจิตวิทยา ร่วมกันวางแผนการรักษาไม่ว่าจะเป็นยาที่รับประทาน ข้อควรระวังต่างๆ การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรค รวมทั้งอาหารที่รับประทานที่ถูกต้องได้สัดส่วนทั้งชนิดและปริมาณในแต่ละราย ผู้ป่วยบางรายทานแต่ผัก ผลไม้ ถั่วต่างๆ ตลอดเวลา หรือผู้ป่วยบางรายไม่กินเนื้อสัตว์เลย ไม่ได้ช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น ละจะทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งเป็นผลให้การรักษาไม่สำเร็จเท่าที่ควร และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ ทางที่ดีควรรับคำปรึกษาจากแพทย์และนักโภชนาการ พยาบาล เภสัชกร ในการบำบัดและฟื้นฟูร่างกายในแต่ละระยะของโรค ซึ่งต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง” อ.ประพันธ์พิศแนะนำ
สำหรับการใช้หลักธรรมชาติบำบัดหรือการใช้สมุนไพรมาฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้น สามารถทำได้แต่ต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้ให้การรักษาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งการใช้สมุนไพรถือว่าเป็นการให้ยาชนิดหนึ่ง และยังช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจดีขึ้น แต่ต้องควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารอย่างถูกหลังโภชนาการ รวมทั้งออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง สามารถต่อสู้กับโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับผู้ใดที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถปรึกษาได้ที่ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง โทร.0-2644-0078-9 โดยไม่เสียค่าใช้จายใดๆ--จบ--