กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--Aziam Burson-Marsteller
บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่เทคโนโลยีชีวภาพสำหรับการเกษตรเป็นหัวข้อที่กำลังได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายจากสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ รวมถึงประชาชนทั่วไปในขณะนี้
เนื่องจากบริษัทฯ มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและแลกเปลี่ยนข้อมูลในหัวข้อดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จึงจัดทำเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับการเกษตรตามที่แนบมาพร้อมนี้ ซึ่งบริษัทฯ หวังว่า จะเป็นประโยชน์และได้รับความสนใจจากท่าน
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความยินดีที่จะตอบข้อซักถาม และพร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ท่านอย่างต่อเนื่อง หากท่านมีข้อขัดข้องในการรับเอกสารข้อมูลนี้ กรุณาแจ้งที่คุณสาธิดา หรือศรีเบญจา หมายเลขโทรศัพท์ 0-2252 9871 และขอขอบคุณท่านที่ได้ให้ความร่วมมือด้วยดีมา ณ ที่นี้
เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตรได้รับการนำไปใช้ทั่วโลก และมีการวิจัยและการผลิตใน 63 ประเทศ
นักวิเคราะห์นโยบายด้านอาหารและการค้าชั้นนำของสหรัฐอเมริกา มร. ซี ฟอร์ด รันจ์ ผู้อำนวยการศูนย์การอาหารระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยมินนาโซต้า ซึ่งเป็นอาจารย์ของคณะเศรษฐศาสตร์และกฎหมายประยุกต์ของมหาวิทยาลัยแมคไนท์อันมีชื่อเสียงในกล่าวว่า นับเป็นเวลาเกือบทศวรรษ หลังจากที่มีการจำหน่ายพืชดัดแปรพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวภาพเมื่อปี 2539 ประเทศต่างๆ กว่า 18 ประเทศได้เพาะปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรม ในขณะที่มีการวิจัยและพัฒนาพืชดัดแปรพันธุกรรมใน 45 ประเทศทั่วโลก
“พืชดัดแปรพันธุกรรมได้รับการยอมรับและเพาะปลูกมากขึ้นทั่วโลก และมีความพร้อมที่จะได้รับการ ดัดแปลง ผลิตและพัฒนา” มร.รันจ์กล่าว
การศึกษาวิจัยเรื่อง “การแพร่ขยายของพืชดัดแปรพันธุกรรมทั่วโลก” ได้กล่าวถึงการยอมรับและการวิจัยพืชดัดแปรพันธุกรรมในปี 2547 ไว้ว่า “ได้มีการทดสอบพืชดัดแปรพันธุกรรมในห้องทดลองเป็นพันๆ แห่ง รวมทั้งในเรือนกระจกและแปลงทดลอง” รายงานยังระบุด้วยว่าการค้าพืชดัดแปรพันธุกรรมในตลาดทั่วโลกในปี 2546 และ 2547 มีมูลค่าถึง 44,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1.76 ล้านล้านบาท) ซึ่งร้อยละ 98 มาจาก 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อาร์เจนติน่า จีน แคนาดา และบราซิล โดยพืชดัดแปรพันธุกรรม ที่นิยมปลูก คือ ถั่วเหลือง ฝ้าย ข้าวโพด และคาโนล่า
ในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในการผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ โดยถั่วเหลือง ข้าวโพดและคาโนล่าดัดแปรพันธุกรรมมีมูลค่าสูงถึง 27,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2546-47 (ประมาณ 1.08 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้ อาร์เจนตินาผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม มีมูลค่ารวม 8,900 ล้านเหรียญ (356,000 ล้านบาท) จีนผลิตฝ้ายดัดแปรพันธุกรรมมีมูลค่า 3,900 ล้านเหรียญ (ประมาณ 156,000 ล้านบาท) แคนาดา ผลิตคาโนล่า ข้าวโพด และถั่วเหลืองมูลค่า 2,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 80,000ล้านบาท) ในขณะที่บราซิลผลิตถั่วเหลืองมีมูลค่า 1,600 ล้านเหรียญ (64,000 ล้านบาท)
ในทศวรรษต่อไป รัฐบาลของประเทศที่กำลังพัฒนาจะอนุมัติให้มีการผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรมเหล่านี้
รวมทั้งพืชดัดแปรพันธุกรรมอื่นๆ ที่กำลังได้รับการพัฒนาอยู่ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอื่นๆ ที่ได้ประเมินว่าพืชดัดแปรพันธุกรรมจะมีมูลค่าถึงเกือบ 5 เท่าของปัจจุบัน หรือ ประมาณ 210,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (8.4 ล้านล้านบาท)
การปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในประเทศที่กำลังพัฒนาอาจจะช่วยให้มูลค่าจีดีพีเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศผู้นำในการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมได้อนุมัติให้มีการปลูกพืช 15 ชนิด คือ ข้าวโพด ฝ้าย คาโนล่า ถั่วเหลือง ชิคคอรี่ แฟลกซ์ แตง มะละกอ มันฝรั่ง ข้าว สควอช หัวบีท สำหรับ ทำน้ำตาล ยาสูบ และมะเขือเทศ โดยพืชที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุดในสหรัฐฯ คือ ข้าวโพด ฝ้าย ถั่วเหลือง คาโนล่า สควอช มะละกอและยาสูบ ตั้งแต่ปี 2534 ถึง 2546 สหรัฐอเมริกาได้ทดลองปลูกพืชดัดแปร พันธุกรรมในไร่มากถึง 24 สายพันธุ์ในปี 2546 ในขณะที่มีการวิจัยเรื่องพันธุ์ของพืชต้านเชื้อรา ซึ่งมี มันฝรั่ง ถั่วลิสง พลัม กล้วย ข้าว ผักสลัด แตงกวาที่ปลูกได้ในดินเค็ม ถั่วที่ต้านสารกำจัดวัชพืช หัวหอม ยาสูบและอื่นๆ
“เราเล็งเห็นแนวโน้มการเติบโตของการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการเกษตรทั้งเชิงพาณิชย์และวิทยาศาสตร์ในทศวรรษหน้าและทศวรรษต่อๆไป”มร.รันจ์กล่าว “รัฐบาลของประเทศในเอเชีย ลาตินอเมริกา และประเทศในอาฟริกา จะอนุมัติให้มีการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมเพิ่มขึ้น” ทวีปอเมริกาเหนือจะเป็น ศูนย์กลางของการวิจัยเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร และจะมีอีกกว่า 30 ประเทศที่จะค้นคว้าวิจัย ในเรื่องนี้ ยุโรปตะวันตก จีน อาร์เจนติน่า บราซิล อาฟริกาใต้ ออสเตรเลีย และอินเดียจะเป็นประเทศหลัก ที่จะผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตรในอนาคต
ประเทศจีนได้เป็นประเทศศูนย์กลางในการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ รัฐบาลของจีนได้ลงทุนหลายร้อยล้านเหรียญ และเป็นประเทศที่สองของโลกที่ใช้งบประมาณในการวิจัยเรื่องนี้มากที่สุดรองจากสหรัฐอเมริกา รายงานระบุอีกว่า ประเทศในภูมิภาคอื่นๆได้ลงทุนด้วยเงินจำนวนสูงเพื่อวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อเพิ่ม ผลผลิตทางการเกษตร และเพิ่มรายได้ให้แก่ประชากรในต่างจังหวัด ประเทศอาฟริกาใต้ได้อนุมัติการปลูกข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม ฝ้ายและถั่วเหลือง และนับเป็นประเทศที่ 6 ที่ใช้เนื้อที่ในการเกษตรด้วย พืชดัดแปรพันธุกรรมมากที่สุด และมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในทวีปอาฟริกาในการพัฒนาพืชปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ สำหรับประเทศอินเดียเกษตรกรได้ปลูกและจำหน่ายฝ้ายต้านสารปราบแมลงศัตรูพืช และสถาบันการศึกษาอย่างน้อย 20 แห่ง กำลังทำการวิจัยเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตรของพืช 16 พันธุ์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียหลายคนหวังว่าจะมีการปฏิวัติเขียวครั้งที่สอง รวมทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในสังคมแห่งความรู้ ประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา และประเทศแถบแคริเบียน ได้อนุมัติให้มีการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรม 5 ชนิด และได้มีการทดลองปลูกในไร่ โดยมีประเทศอาร์เจนติน่าเป็นผู้นำ ตามด้วยบราซิล ขณะที่ประเทศในสหภาพยุโรปได้ลดการอนุมัติให้ปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมตั้งแต่ปี 2542 เนื่องจากมีผู้คัดค้านพืชดัดแปรพันธุกรรม ซึ่งท่าทีของประเทศในสหภาพยุโรปทำให้ประเทศในภูมิภาคอื่นลังเลที่จะปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรม
“ถ้าประเทศในสหภาพยุโรปใช้กฎข้อบังคับเข้มงวดในการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรม อาจจะทำให้โลกชะลอการปลูกพืชประเภทนี้ แต่ไม่สามารถจะยุติการปลูกพืชนี้ได้” รันจ์กล่าว ”อีกประการหนึ่ง ถ้าสหภาพยุโรปสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการเกษตร จะเป็นการสนับสนุนให้ประเทศอื่นๆ ยอมรับการเกษตรในลักษณะนี้เร็วขึ้น”--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit