ฟิทช์เพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารไทยขนาดใหญ่จากการที่ผลกำไรของธนาคารปรับตัวดีขึ้น

04 Feb 2005

กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์

ฟิทช์ บริษัทจัดอันดับเครดิตข้ามชาติประกาศเพิ่มอันดับเครดิตแก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย และธนาคารเอเชีย ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงไทย การเปลี่ยนอันดับเครดิตสืบเนื่องมาจากการที่ธนาคารไทยได้ประกาศผลประกอบการเบื้องต้นสำหรับปี 2547 ซึ่งโดยรวมแล้วแสดงให้เห็นถึงการทำกำไรที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากอัตราการเจริญเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่งขึ้น ต้นทุนการให้สินเชื่อที่ลดลง และการกันสำรองหนี้สูญที่ลดลง ฟิทช์กล่าวว่า แนวโน้มในอนาคตของภาคธุรกิจธนาคารยังคงเป็นบวก เนื่องจาก สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่ง ราคาอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น และการระดมเงินจากภาคธุรกิจและผู้บริโภครายย่อยที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้น่าจะช่วยทำให้ความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจธนาคารไทยฟื้นตัวอย่างเต็มที่ภายใน 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า

ในขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเบื้องต้น อยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติและอาจจะลดลงได้ ถ้าสภาพคล่องในระบบเริ่มตึงตัว ผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับการทำกำไรของธนาคารไทยจากการที่ต้นทุนการให้สินเชื่อที่อาจเพิ่มขึ้นน่าจะถูกทำให้เบาบางลงโดยระดับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ลดลง และอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่งขึ้น ดังนั้นอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิและความสามารถในการทำกำไรโดยรวมน่าจะแข็งแกร่งขึ้นในปี 2548 และ 2549 ฟิทช์กล่าวว่าในขณะที่ระดับสำรองหนี้สูญและเงินกองทุนของธนาคารไทยได้ปรับตัวดีขึ้นจากเดิม อัตราการเติบโตของสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งขึ้นใน 2 ถึง 3 ปีข้างหน้าอาจจะทำให้บางธนาคารไทยต้องระดมทุนเพิ่มหรือลดแรงกดดันที่อาจเกิดขึ้นกับเงินกองทุนด้วยวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization)

ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทย มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งที่สุด เมื่อพิจารณาถึงผลกำไร คุณภาพของสินทรัพย์ และความสามารถในการทำกำไร ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีผลกำไรสุทธิจำนวน 18.5 พันล้านบาทในปี 2547 ซึ่งผลกำไรนี้เป็นผลมาจากต้นทุนการให้สินเชื่อที่ลดลง รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการที่ปรับตัวดีขึ้น และกำไรพิเศษจากเงินลงทุนที่สูงขึ้น อัตราค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ระดับการกันสำรองหนี้สูญ และเงินกองทุนของธนาคารไทยพาณิชย์ในขณะนี้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่สุดในบรรดาธนาคารไทย ในขณะเดียวกัน ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทย รายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 15.3 พันล้านบาทในปี 2547 การปรับตัวดีขึ้นของผลกำไรของธนาคารกสิกรไทยเป็นผลมาจากต้นทุนการให้สินเชื่อที่ลดลง ซึ่งส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจากการที่ธนาคารไถ่ถอนหุ้นกู้ควบหุ้นบุริมสิทธิ อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิและความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานของธนาคารกสิกรไทยอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในบรรดาธนาคารไทย อันดับเครดิตสากลระยะยาวและระยะสั้นของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทยขณะนี้ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของประเทศไทย

ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แสดงผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน จากการที่ผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 17.6 พันล้านบาทในปี 2547 ส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่สูงขึ้นและต้นทุนการให้สินเชื่อที่ลดลง คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารกรุงเทพ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ทางธนาคารจะปรับสถานะของสินเชื่อที่ปล่อยให้กับบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมิคัลไทย (“TPI”) ออกจากสถานะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ภายหลังการสรุปการฟื้นฟูกิจการของ TPI ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทย แสดงผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน จากการที่ผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 พันล้านบาท และ 1 พันล้านบาท ตามลำดับ อัตราการเติบโตของผลกำไร คุณภาพของสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น และการแปลงสภาพของใบสำคัญแสดงสิทธิซึ่งจะทำให้เงินกองทุนเพิ่มขึ้น น่าจะทำให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาสามารถเพิ่มระดับการกันสำรองหนี้สูญได้ ในขณะที่ความสำเร็จในการควบรวมบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับธนาคารทหารไทยในเชิงปฏิบัติ และการสนับสนุนการดำเนินงานจากธนาคาร DBS ของสิงคโปร์น่าจะช่วยให้ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารทหารไทยแข็งแกร่งขึ้นในระยะปานกลาง

ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ได้รายงานผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นในปี 2547 เช่นกัน จากการที่อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยและผลกำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 11.1 พันล้านบาท ถึงแม้ว่าคุณภาพของสินทรัพย์และระดับการกันสำรองหนี้สูญของธนาคารจะลดลง ภายหลังการจัดชั้นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใหม่ในปี 2547 ณ สิ้นปี 2547 ธนาคารกรุงไทยมีอัตราหนี้เสียหลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 74.2% ซึ่งอยู่ในระดับที่อ่อนแอกว่าธนาคารไทยขนาดใหญ่ ในขณะที่การถือหุ้นส่วนใหญ่และการควบคุมของรัฐบาลเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดอันดับเครดิตระยะยาวของธนาคารกรุงไทย มันก็ได้จำกัดระดับคุณภาพสินทรัพย์และขีดความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร ส่วนธนาคารเอเชียซึ่งถูกซื้อโดยธนาคารยูโอบีของสิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว มีการกันสำรองหนี้สูญที่มากขึ้น สืบเนื่องมาจากการพิจารณาคุณภาพสินทรัพย์ใหม่ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำกำไรของธนาคารในปี 2547 ถึงแม้ว่า การสนับสนุนทางการเงินและการดำเนินงานจากธนาคารยูโอบีน่าจะช่วยทำให้ฐานะทางการเงินของธนาคารแข็งแกร่งขึ้นในปี 2548 และ 2549

การเปลี่ยนอันดับเครดิตมีดังต่อไปนี้

ธนาคารกรุงเทพ (“BBL”): อันดับเครดิตสากลระยะยาวปรับเพิ่มเป็น ‘BBB’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ จากเดิม ‘BBB-’ (BBB ลบ); อันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ด้อยสิทธิปรับเพิ่มเป็น ‘BBB-’ (BBB ลบ) จากเดิม ‘BB+’; อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินปรับเพิ่มเป็น ‘C/D’ จากเดิม ‘D’; ส่วนอันดับเครดิตที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้แก่: อันดับเครดิตสากลระยะสั้นที่ ‘F3’; อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’

ธนาคารกสิกรไทย (“KBANK”): อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ ‘BBB’ แนวโน้มเปลี่ยนเป็นบวก จากเดิมแนวโน้มมีเสถียรภาพ; อันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ด้อยสิทธิปรับเพิ่มเป็น ‘BBB’ จากเดิม ‘BBB-’ (BBB ลบ); อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินปรับเพิ่มเป็น ‘C’ จากเดิม ‘C/D’; ส่วนอันดับเครดิตที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้แก่: อันดับเครดิตสากลระยะสั้นที่ ‘F3’; อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’; อันดับเครดิตในประเทศระยะยาวที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ; อันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’; อันดับเครดิตในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA-(tha)’

ธนาคารไทยพาณิชย์ (“SCB”): อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ ‘BBB’ แนวโน้มเปลี่ยนเป็นบวก จากเดิมแนวโน้มมีเสถียรภาพ; อันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ด้อยสิทธิปรับเพิ่มเป็น ‘BBB’ จากเดิม ‘BBB-’ (BBB ลบ); อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินปรับเพิ่มเป็น ‘C’ จากเดิม ‘C/D’; ส่วนอันดับเครดิตที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้แก่: อันดับเครดิตสากลระยะสั้นที่ ‘F3’; อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (“BAY”): อันดับเครดิตสากลระยะยาวปรับเพิ่มเป็น ‘BB’ แนวโน้มเป็นบวก จากเดิม ‘BB-’ (BB ลบ); อันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ด้อยสิทธิปรับเพิ่มเป็น ‘BB-’ (BB ลบ) จากเดิม ‘B+’; อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินปรับเพิ่มเป็น ‘D’ จากเดิม ‘D/E’; อันดับเครดิตในประเทศระยะยาวปรับเพิ่มเป็น ‘A-(tha)’ (‘A ลบ (tha)’) แนวโน้มเป็นบวก จากเดิม ‘BBB+(tha)’; อันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นปรับเพิ่มเป็น ‘F1(tha)’ จากเดิม ‘F2(tha)’; อันดับเครดิตในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิปรับเพิ่มเป็น ‘BBB+(tha)’ จากเดิม ‘BBB(tha)’; ส่วนอันดับเครดิตที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้แก่: อันดับเครดิตสากลระยะสั้นที่ ‘B’; อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’;

ธนาคารทหารไทย (“TMB”): อันดับเครดิตสากลระยะยาวปรับเพิ่มเป็น ‘BB+’ แนวโน้มเป็นบวก จากเดิม ‘BB-’ (BB ลบ); อันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ด้อยสิทธิปรับเพิ่มเป็น ‘BB’ จากเดิม ‘B+’; อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินปรับเพิ่มเป็น ‘D’ จากเดิม ‘D/E’; อันดับเครดิตในประเทศระยะยาวปรับเพิ่มเป็น ‘A(tha)’ แนวโน้มเป็นบวก จากเดิม ‘BBB+(tha)’; อันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นปรับเพิ่มเป็น ‘F1(tha)’ จากเดิม ‘F2(tha)’; อันดับเครดิตในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิปรับเพิ่มเป็น ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) จากเดิม ‘BBB(tha)’; ส่วนอันดับเครดิตที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้แก่: อันดับเครดิตสากลระยะสั้นที่ ‘B’; อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’;

ธนาคารเอเชีย (“BOA”): อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินปรับเพิ่มเป็น ‘C/D’ จากเดิม ‘D’; ส่วนอันดับเครดิตที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้แก่: อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ ‘BBB’ แนวโน้มเป็นบวก; อันดับเครดิตสากลระยะสั้นที่ ‘F3’; อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’; อันดับเครดิตในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ; อันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’; อันดับเครดิตในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA(tha)’

ธนาคารกรุงไทย (“KTB”): อันดับเครดิตไม่เปลี่ยนแปลง: อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ ‘BBB-’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ; อันดับเครดิตสากลระยะสั้นที่ ‘F3’; อันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BB+’; อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินปรับที่ ‘D’; อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’; อันดับเครดิตในประเทศระยะยาวที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ; อันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’; อันดับเครดิตในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ(tha))

ติดต่อ

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์,

Vincent Milton,

กรุงเทพฯ

+662 655 4762/4759

David Marshall,

ฮ่องกง

+852 2263 9963

หมายเหตุ : อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสนับสนุนของฟิทช์

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของฟิทช์วิเคราะห์ถึงสถานะทางการเงินของธนาคารเมื่อไม่มีปัจจัยช่วยเหลือภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง อันดับเครดิตสนับสนุนวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการที่ทางธนาคารจะได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น หรือ จากรัฐบาลถ้าทางธนาคารประสบปัญหา อันดับเครดิตนี้ไม่ใช่อันดับเครดิตของหนี้ แต่เป็นอันดับความแข่งแกร่งของสถานะการเงินของธนาคาร และระดับการสนับสนุนจากภายนอกซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีให้ทางธนาคารก็ได้

หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้

การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กสิกรไทย จำกัด ซึ่งถือหุ้น 71.4% โดยธนาคารกสิกรไทย ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด--จบ--