กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์
อีสเทิร์นไวร์ปรับผังใหม่เน้นบริหารงานอย่างโปร่งใส เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยทีมงานมืออาชีพผู้ถือหุ้นไฟเขียวเพิ่มทุน 6.06 ล้านหุ้น ราคา 10 บาท/หุ้น เสนอขายแบบเจาะจงให้กับนักลงทุน
อีสเทิร์นไวร์ปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ ภายหลังการปรับโครงสร้างหนี้เรียบร้อย เน้นการบริหารงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้โดยการกำกับดูแลกิจการที่ดี มุ่งหวังการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยคณะกรรมการบริหารและทีมงานมืออาชีพ พร้อมกันนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันนี้ (4 สิงหาคม 2547) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิ่มทุนจดทะเบียนโดยออกหุ้นใหม่ 6.06 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้กับนักลงทุน (Private Placement)
นายระพี สุขยางค์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ EWC เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า บริษัท อีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน) มีลักษณะเป็น Holding Company โดยมีบริษัทย่อยคือ บริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด (RWI) ประกอบธุรกิจลวดเหล็กแรงดึงสูงชนิดเส้นเดี่ยว (PC-wire) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตเสาเข็ม เสาไฟฟ้า แผ่นพื้นสำเร็จรูป ลวดเหล็กแรงดึงสูงชนิดตีเกลียว (PC-Strand) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น คานสะพาน เสาเข็มขนาดใหญ่ ลวดขอบล้อยาง (Tyre Bead Wire) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และ ลวดเชื่อมไฟฟ้า (Welding Wire) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเชื่อมโลหะ โดยบริษัทได้จดทะเบียนและแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2536 และได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และศาลได้มีคำสั่งให้เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อ 21 มิถุนายน 2544 ในปัจจุบัน บริษัท อีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จ และสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น และกรรมการบริษัทชุดใหม่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เพื่อให้การบริหารกิจการเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการดำเนินการกำกับ ดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ตลอดจนการเคารพในสิทธิความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้นและความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย อันจะช่วยส่งเสริมและเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจให้มีการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน เพื่อความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มมูลค่าและผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทในระยะยาว
และในวันนี้ (4 สิงหาคม 2547) บริษัทฯ ได้มีการประชุมผู้ถือหุ้น โดยที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัท จากเดิม 279,367,440 บาท เป็น 340,000,000 บาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 6,063,256 หุ้น เสนอขายหุ้นละ 10 บาท ให้แก่นักลงทุนเฉพาะเจาะจง ซึ่งทางคณะกรรมการบริษัทจะได้กำหนดระยะเวลาการจองซื้อ วิธีการและรายละเอียดของการเสนอขายในลำดับต่อไป
สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมในปี 2547 และแนวโน้มในปี 2548 คาดว่าจะยังทรงตัว และสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2546 โดยในปี 2546 ความต้องการลวดเหล็กแรงดึงสูงเพิ่มขึ้นเป็น 130,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 17 จากปี 2545 ขณะที่อัตราการใช้กำลังผลิตในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48 จากปี 2545 อยู่ที่ร้อยละ 41 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ตลอดจนการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง
ในขณะที่ แนวโน้มของลวดขอบล้อยางและสภาพการแข่งขันในปี 2547 ต่อเนื่องถึงปี 2548 ยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เนื่องจากเศรษฐกิจในภาพรวมที่กำลังขยายตัว การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนการส่งออกยานยนต์จากฐานการผลิตในประเทศไทยไปยังตลาดโลก จึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อ ซึ่งจากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม คาดว่าในปี 2547 จะมีการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 880,000 คัน เป็นการจำหน่ายในประเทศประมาณ 600,000 คัน และส่งออก 280,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ร้อยละ 17, 15 และ 22 ตามลำดับ สำหรับรถจักรยานยนต์จะมีการผลิต 2,600,000 คัน เป็นการจำหน่ายในประเทศ 2,000,000 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ร้อยละ 8 และ 19 ส่วนการส่งออกจะมีจำนวนที่ใกล้เคียงกับปี 2546 ประมาณ 600,000 คัน
ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ จึงได้เพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2546 มีอัตราการใช้กำลังผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 90 ทำให้ความต้องการใช้ลวดขอบล้อยางเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และคาดว่าตลาดรวมลวดขอบล้อยางในปี 2547 จะมีประมาณ 20,000 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ประมาณร้อยละ 25
ในปี 2546 ความต้องการลวดขอบล้อยางเพิ่มขึ้นเป็น 16,500 ตันต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 7 จากปี 2545 โดยบริษัทครองส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 32
ส่วนปริมาณความต้องการลวดเชื่อมไฟฟ้าในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็น 10,800 ตันต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 14 จากปี 2545 โดยบริษัทครองส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 16 ขณะที่กำลังการผลิตของปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 79 จากปี 2545 อยู่ที่ร้อยละ 71 เนื่องจากลวดเชื่อมไฟฟ้าสามารถใช้งานได้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท และสามารถใช้แทนลวดเชื่อมแบบก้านธูป (Electrode Wire) ทำให้มีช่องทางการกระจายสินค้าได้หลายช่องทางในหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งมีการผลิตเพิ่มขึ้นทำให้แนวโน้มความต้องใช้ลวดชนิดนี้สูงขึ้นตามไปด้วย โดยตลาดรวมลวดเชื่อมไฟฟ้าในปี 2547 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 12,000 ตันต่อปี หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ประมาณร้อยละ 11%
นายภิรมย์ ปริยวัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน บริษัทฯได้ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการครบถ้วนแล้ว ดังนั้นศาลล้มละลายกลางจึงได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัทตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2547 ส่วนบริษัทย่อยได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไปแล้วเสร็จเกินกว่าร้อยละ 75 ซึ่งจะแล้วเสร็จครบทั้งจำนวนในเร็ว ๆ นี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้บริษัทและบริษัทย่อยมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงขึ้น จึงได้มีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจทั้งในการปรับปรุงพัฒนาเครื่องจักร และการขยายกำลังการผลิตให้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับการดำเนินแผนงานด้านการตลาดทุกผลิตภัณฑ์ในเครือโดยใช้ กลยุทธ์การตลาด ดังนี้คือ สินค้าทุกผลิตภัณฑ์ของบริษัทผ่านการรับรองระบบคุณภาพมาตรฐาน ISO 9001 : 2000 และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของกระทรวงอุตสาหกรรม และผลิตตามมาตรฐานสากลทั่วไป อาทิเช่น มาตรฐาน ASTM, BS, AS จึงให้ความมั่นใจด้านคุณภาพได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าหลายชนิด และเป็นผู้ผลิตลวดขอบล้อยางเพียงรายเดียวในประเทศไทย โดยมีประสบการณ์การผลิตมามากกว่า 10 ปี บริษัทฯ มีนโยบายการตั้งราคาใกล้เคียงกับคู่แข่ง เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมของบริษัท และส่วนแบ่งตลาด รวมทั้งมีบริการหลังการขาย โดยการติดตามและดูแลผลิตภัณฑ์ที่ได้จำหน่ายไปแล้ว พร้อมให้บริการด้านการสอบเทียบเครื่องมือวัดต่าง ๆ ตลอดจนการสอบถามปัญหาการใช้ผลิตภัณฑ์และการบริการของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานให้ความลูกค้าเกิดความพึงพอใจในคุณภาพของสินค้าและการบริการของบริษัทยิ่งขึ้น โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มบริษัทผู้ผลิตเสาเข็ม เสาไฟฟ้า แผ่นพื้นสำเร็จรูป คานสะพาน ผู้ผลิตยางรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ 2. กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง และประมูลงานกับหน่วยงานราชการ 3. หน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ 4. ผู้แทนจำหน่ายอุตสาหกรรมลวดเชื่อมโลหะต่าง ๆ
บริษัทมีโครงการในการเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของลวดแรงดึงสูงชนิดเส้นเดี่ยว (PCW) โดยมีแผนที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดหาเครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตที่สูง และมีเทคโนโลยีที่ตอบสนองกับความต้องการของตลาดทั้งในปัจจุบันและคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเครื่องจักรดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและช่วยลดต้นทุนลงอีกด้วย ซึ่งหากแผนดังกล่าวมีความเป็นไปได้ จะช่วยให้บริษัทมีกำลังการผลิตสูงขึ้น ส่งผลให้มีรายได้และผลประกอบการที่ดีขึ้น
นายสนทยา น้อยเจริญ กรรมการและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านปฏิบัติการ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดของการปรับโครงสร้างหนี้ การเพิ่มทุน และการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนว่า การที่บริษัทระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับบุคคลเฉพาะเจาะจง แทนการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมหรือประชาชนทั่วไป เนื่องจากบริษัทต้องการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทย่อย ซึ่งคือบริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด หรือ RWIโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนเสนอขายต่อเจ้าหนี้ของบริษัทย่อย ซึ่งคือ บริษัท แอสเซ็ท บิลเลี่ยน จำกัด โดยเงินทุนที่ระดมได้จะให้กู้กับบริษัทย่อยเพื่อให้บริษัทย่อยนำไปชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ของบริษัทย่อย คือ บริษัท แอสเซ็ท บิลเลี่ยน จำกัด พร้อมกับขอเจรจาผ่อนปรนการชำระหนี้ที่คงเหลือกับบริษัท แอสเซ็ท บิลเลี่ยน จำกัด
โดยบริษัทได้ทำข้อตกลงกับ บริษัท แอสเซ็ท บิลเลี่ยน จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทย่อยว่า เมื่อบริษัท แอสเซ็ท บิลเลี่ยน จำกัด ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนและมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทแล้ว จะต้องผ่อนปรนงวดระยะเวลาชำระหนี้ และอัตราดอกเบี้ยที่บริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด จะต้องชำระคืนแก่ บริษัท แอสเซ็ท บิลเลี่ยน จำกัด ดังนี้ จากสัญญาเดิม ให้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับวงเงินกู้ 125 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยไม่เกินอัตราสูงสุดร้อยละ 15 ต่อปี โดยให้ชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นงวดทุก ๆ 3 เดือน ภายในกำหนดเวลา 3 ปี สัญญาที่จะแก้ไขใหม่ภายหลังจากที่ บริษัท แอสเซ็ท บิลเลี่ยน จำกัด ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ให้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ทุก ๆ 3 เดือนในอัตรา 2%, 3% และ MLR-1% ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับในปี 1-3 ตามลำดับ หลังจากนั้น ให้ชำระดอกเบี้ยในอัตรา MLR ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ส่วนการชำระคืนเงินต้น จะมีระยะเวลาปลอดหนี้ (Grace period) เป็นเวลา 2 ปี และให้ชำระคืนเป็นงวดเท่า ๆ กันทุก ๆ 6 เดือน เป็นเวลา 7 ปี
ทั้งนี้ บริษัทจะได้รับเงินจำนวน 60.63 ล้านบาทจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยบริษัทจะนำไปให้บริษัทย่อยกู้ต่อเพื่อนำไปชำระหนี้คงค้างบางส่วนแก่บริษัท แอสเซ็ท บิลเลี่ยน จำกัด
ภายหลังจากการออกหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 6,063,256 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพื่อเสนอขายต่อบริษัท แอสเซ็ท บิลเลี่ยน จำกัด จะส่งผลกระทบด้าน Dilution effect ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมลดลงประมาณร้อยละ 17.83 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดจำนวน 34 ล้านหุ้น
โดยบริษัทฯ ได้ขอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมอบอำนาจให้แก่คณะกรรมการบริษัท หรือคณะกรรมการบริหารของบริษัท เป็นผู้พิจารณากำหนดระยะเวลาจองซื้อ วิธีการ และรายละเอียดการเสนอขายหุ้นต่อนักลงทุนเฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเรียกชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวได้ภายใน 1 เดือนนับจากวันที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทมีมติอนุมัติให้เพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่นักลงทุนเฉพาะเจาะจงดังกล่าว
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
จิดาภา ประมวลทรัพย์, ประกาศิต นันป้อ
บริษัท สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด
โทร. 0-2693-7835-8 ต่อ 32, 33, 0-1817-7153, 0-6339-0404
โทรสาร 0-2276-8552, 0-2693-6920--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit