กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยืนยันผลการทบทวนอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มูลค่า 3,500 ล้านบาท (SPL055A) 3,000 ล้านบาท (SPL036A) 3,500 ล้านบาท (SPL073A) และ 3,500 ล้านบาท (SPL073B) ของ บริษัท สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) คงเดิมที่ระดับ “A-” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตตั๋วแลกเงิน 300 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-” อันดับเครดิตดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ รวมทั้งการมีสัมพันธภาพที่ดีและยาวนานกับผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการมีคุณภาพสินทรัพย์ในระดับที่รับได้ ตลอดจนฐานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ใช้แล้ว นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังได้รับการสนับสนุนจากแนวโน้มที่ดีของธุรกิจตามภาวะความต้องการรถยนต์ที่ทำให้ความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อเพิ่มขึ้นตามมา อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ที่อาจจำกัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคตได้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ตั๋วแลกเงินที่บริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่งมีแผนจะเสนอขายมีมูลค่า 300 ล้านบาท มีอายุ 3 ปี และมีกำหนดไถ่ถอนในปี 2551 โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการขายตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปใช้ในการขยายธุรกิจและบริหารต้นทุนของบริษัท ทั้งนี้ ผู้ถือตั๋วแลกเงินจะมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ถือตราสารหนี้ที่ไม่มีประกันประเภทอื่นๆ ทั้งที่เป็นหนี้ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของบริษัท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีข้อผูกพันจากผู้ออกตั๋วแลกเงินในการทำหน้าที่ต่างๆ โดยทั่วไปเหมือนกับที่ระบุในข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ ดังนั้น ผู้ถือตั๋วแลกเงินจึงต้องติดตามความเป็นไปของสถานะของผู้ออกตั๋วแลกเงินอย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิตามกฎหมายของตน
ทริสเรทติ้งรายงานต่อไปว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2547 บริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่งมีผลกำไรสุทธิที่ระดับ 253 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ถัวเฉลี่ยและต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ย (ยังไม่ได้ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ที่ 0.8% และ 4.8% ตามลำดับ ในขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยอยู่ในระดับ 1.5% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของบริษัทที่ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีแล้วยังคงมีระดับที่สูงกว่า 5% ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่งในปี 2547 จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับผลการดำเนินงานในปี 2546 ในด้านของโครงสร้างเงินทุนนั้น อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมและต่อสินเชื่อรวมของบริษัทมีระดับลดลงจาก 17.0% และ 17.4% ตามลำดับในปี 2546 มาอยู่ในระดับ 14.7% และ 15.0% ณ เดือนมีนาคม 2547 อันเป็นผลมาจากทั้งการขยายตัวที่ค่อนข้างสูงของสินทรัพย์และการลดลงของส่วนของผู้ถือหุ้นเนื่องจากบริษัทมีการจ่ายเงินปันผลจำนวน 498 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2547 โครงสร้างหนี้ของบริษัทในปัจจุบันมีความสอดคล้องที่ดีขึ้นกับโครงสร้างสินทรัพย์ของบริษัทหลังจากการออกหุ้นกู้มูลค่า 3,500 ล้านบาทเมื่อเดือนมีนาคม 2547 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมรวมของบริษัทลดลงจากระดับ 51.7% ณ เดือนธันวาคม 2546 เป็น 37.3% ณ เดือนมีนาคม 2547--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit