ฟิทช์ ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารเอเชียเป็นบวกหลังจากที่ธนาคาร UOB เข้ามาถือหุ้นใหญ่

28 Jul 2004

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

บริษัทจัดอันดับเครดิตข้ามชาติได้ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ (foreign currency rating) ระยะยาวของธนาคารเอเชียเป็นบวก จากเดิมที่มีแนวโน้มมีเสถียรภาพ ฟิทช์ยังได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารไว้ที่ ‘BBB’ระยะสั้นที่ ‘F3’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘D’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ระดับ 2 ในขณะเดียวกัน ฟิทช์เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ก็ได้ประกาศคงอันดับเครดิตในประเทศ (national rating) ของธนาคารระยะยาวไว้ที่ ‘AA+(tha)’ ระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศยังเป็นมีเสถียรภาพ

การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวเป็นผลมาจากการที่ธนาคาร United Overseas Bank (“UOB”) ของสิงค์โปร์ได้ทำการซื้อหุ้นส่วนใหญ่ในธนาคารเอเชียจากธนาคาร ABN AMRO เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายใต้ข้อตกลงของสัญญา ธนาคาร UOB ได้ซื้อหุ้น 81% ในธนาคารเอเชียที่ราคา 5.35 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 22 พันล้านบาท อันดับเครดิตสากลของธนาคาร UOB อยู่ที่ระดับ ‘AA-’ (AAลบ) ซึ่งเป็น ระดับเดียวกับธนาคาร ABN AMRO ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมของธนาคารเอเชีย อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารเอเชียถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ ‘BBB’ แนวโน้มเป็นบวก ส่วนอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารเอเชีย สะท้อนให้เห็นถึงฐานะทางการเงินของตัวธนาคารเองที่ยังไม่แข็งแกร่งนัก แม้ว่ามีการปรับตัวดีขึ้น

ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารเอเชียมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2546 ผลกำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 พันล้านบาทซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและการกันสำรองที่ลดลง อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยได้ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.32% ในปี 2546 จากระดับต่ำที่ 0.9% ในปี 2542 อย่างไรก็ตาม ผลกำไรของธนาคารยังคงถูกจำกัดโดยการเติบโตของสินเชื่อที่ไม่สูงนักรวมทั้งปัญหาหนี้เสีย ในครึ่งแรกของปี 2547 ผลกำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 898.1 ล้านบาท จาก 859.7 ล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2546ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดลงของต้นทุนสินเชื่อและกำไรจากการขายเงินลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น

หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารเอเชียอยู่ที่ 23.5 พันล้านบาทหรือ 19.8% ของสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2547 ส่วนระดับการกันสำรองหนี้สูญของธนาคารอยู่ที่ 14.5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือน มีนาคม 2547 ปรับตัวขึ้นมาจาก 8.9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2545 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบันทึกกลับเงินต้นและสำรองของสินเชื่อในชั้นหนี้สูญตามกฎเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระดับการกันสำรองหนี้สูญนี้อยู่ที่ 60% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งค่อนข้างต่ำเล็กน้อยเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น อัตราหนี้เสียหลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของธนาคารซึ่งอยู่ที่ 61% แม้ว่าจะยังอยู่ในระดับสูงแต่ก็ได้ลดลงมาอย่างมีนัยสำคัญซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงฐานะทางการเงินและงบดุลที่แข็งแกร่งขึ้นของธนาคาร

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2547 เงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารอยู่ที่ 9.76% ของสินทรัพย์เสี่ยงในขณะที่เงินกองทุนทั้งหมดของธนาคารอยู่ที่ 13.68% การฟื้นตัวของผลกำไรและการสนับสนุนจากธนาคาร UOB คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในฐานะทางการเงินและงบดุลของธนาคารเอเชียในอีก 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า

ในปัจจุบัน ธนาคาร UOB ถือหุ้นจำนวน 79% ในธนาคารยูโอบีรัตนสินซึ่งเป็นธนาคารที่เล็กที่สุดในประเทศไทย ซึ่งธนาคารยูโอบีรัตนสินมีแนวโน้มที่จะถูกควบรวมกิจการกับธนาคารเอเชียในอนาคตอันใกล้เพื่อสอดคล้องกับนโยบาย “One Presence” ของธนาคารแห่งประเทศไทย หลังการควบรวม ธนาคารที่ควบรวมกันแล้วจะมีสินทรัพย์ที่ระดับ 227 พันล้านบาท และมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 4% ธนาคาร UOB ถูกก่อตั้งในปี 2478 โดยมีตระกูล Wee เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ธนาคาร UOB เป็นกลุ่มธนาคารในประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของสิงค์โปร์ โดยมีสินทรัพย์อยู่ที่ 66 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ ส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ปัจจัยบ่งชี้ความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร UOB ที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าธนาคารอื่นๆในประเทศสิงค์โปร์ ปัจจัยบ่งชี้คุณภาพของสินทรัพย์ของธนาคารเริ่มจะถดถอยลงเล็กน้อย หลังจากที่มีการซื้อหุ้นของธนาคาร Overseas Union Bank (“OUB”) ของสิงค์โปร์ในเดือนกันยายน 2544 อย่างไรก็ตาม การซื้อธนาคาร OUB ได้เพิ่มความแข็งแกร่งทางด้านเครือข่ายธุรกิจธนาคารสำหรับผู้บริโภครายย่อยในประเทศสิงค์โปร์ และการปล่อยสินเชื่อให้ตลาดระดับกลาง เงินกองทุนของธนาคาร UOB ค่อนข้างจะแข็งแกร่งโดยอัตราเงินกองทุนทั้งหมดอยู่ที่ 18.2% และอัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 12.8% ณ สิ้นปี 2546 ธนาคารมีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาค โดยขณะนี้ธนาคาร UOB เป็นธนาคารต่างประเทศที่ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศมาเลเซีย และกำลังจะพัฒนาเครือข่ายธุรกิจในประเทศฟิลิปปินส์ด้วย

หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า ‘AAA’ ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย

ติดต่อ

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์,

Vincent Milton, กรุงเทพฯ

+662 655 4762/4759

David Marshall, ฮ่องกง

+852 2263 9963--จบ--

--อินโฟเควสท์ (นท)--

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit