กรีนพีซ จี้กระทรวงทรัพย์ฯ อย่านิ่งเฉยปัญหามะละกอจีเอ็มโอปนเปื้อน

16 Sep 2004

กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--กรีนพีซ

กรีนพีซเรียกร้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อย่าวางเฉยปัญหามะละกอจีเอ็มโอหลุดรอดสู่ธรรมชาติ ชี้มะละกอจีเอ็มโอทำให้เกิดมลพิษทางพันธุกรรม และอาจทำให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ กระทรวงทรัพย์ฯ ต้องร่วมแก้ไขปัญหาบนหลักวิชาการ และดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ก่อมลพิษ

วันนี้อาสาสมัครกรีนพีซได้เข้าไปที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้นำป้ายผ้า “หยุดมะละกอจีเอ็มโอ” และเข่งบรรจุมะละกอปิดป้าย “จีเอ็มโอ” รวมกับมะละกอปกติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ระบุได้ว่า ปัจจุบันมีมะละกอจีเอ็มโอปนเปื้อนอยู่ร่วมกับมะละกอปกติ โดยไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงต้องรีบแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนอย่างเร่งด่วน

ดร.จิรากรณ์ คชเสนี ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยื่นจดหมายเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรง ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหามะละกอจีเอ็มโอหลุดรอดสู่ธรรมชาติ รวมทั้งดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ก่อให้เกิดการปนเปื้อน เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ยังไม่เคยแสดงท่าทีชัดเจนต่อปัญหาดังกล่าว

ดร.จิรากรณ์กล่าวว่า ปัญหามะละกอจีเอ็มโอปนเปื้อนในธรรมชาติส่งผลกระทบโดยตรงต่อธรรมชาติ ทั้งนี้มะละกอจีเอ็มโอจะไปปนเปื้อนกับมะละกอปกติจนทำให้กลายเป็นมะละกอจีเอ็มโอไปหมด เรียกว่าเป็นมลพิษทางพันธุกรรม ทำให้ประเทศไทยที่มีฐานทรัพยากรที่หลากหลายติดอันดับโลกของไทยถูกทำลาย ซึ่งหากไม่มีการแก้ปัญหาการปนเปื้อนอย่างเร่งด่วนจะควบคุมไม่ได้ และไม่สามารถเรียกสภาพสิ่งแวดล้อมแบบเดิมกลับคืนมาได้

“มะละกอจีเอ็มโอพันธุ์ต้านไวรัสใบด่างวงแหวนเกิดขึ้นโดยการยิงยีนไวรัสเข้าไปในยีนมะละกอ ทำให้ยีนไวรัสทำงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งไม่มีทางรู้ได้เลยว่าไวรัสชนิดใหม่จะทำปฏิกิริยาใด กับสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์ ทำให้คนไทยและสิ่งแวดล้อมไทยตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างไม่เคยมีมาก่อน” ดร.จิรากรณ์ กล่าว

กรีนพีซได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการปกป้อง และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

“ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรจัดการการปนเปื้อนอย่างล่าช้า ไม่โปร่งใส และไม่อยู่บนหลักการจัดการการปนเปื้อนอย่างแท้จริง เช่น ดำเนินการตรวจสอบโดยลำพัง ประกาศว่ามีการปนเปื้อนแล้วทำลายโดยทันที ด้วยการใช้คนงานที่ไม่สวมชุดป้องกันการปนเปื้อนจากละอองเกสรและเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งนำต้นมะละกอฝังกลบรวมกับเมล็ดที่มีความเป็นไปได้ที่จะงอกขึ้นมาใหม่ได้” ดร.จิรากรณ์ กล่าว

กรีนพีซยังเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางพันธุกรรม และผลักดันให้มีการยกระดับมติ ครม.ห้ามทดลองพืชจีเอ็มโอในไร่นา เป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งแสดงจุดยืนด้วยการประกาศนโยบายไม่อนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอ ร่วมกับพืชปกติเพื่อป้องกันปัญหาการปนเปื้อนที่หลีกเลี่ยงและควบคุมไม่ได้

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม โทร. 01 381 5367

เอื้อพันธ์ ชำนาญเอื้อ เจ้าหน้าที่ประสานงานสื่อมวลชน โทร. 01 928 2426--จบ--

--อินโฟเควสท์ (นท)--