กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมลงมือส่งแบตเตอรี่มือถือและถ่านไฟฉายเข้าข่ายขยะสารพิษอันตราย จำนวน 8,000 ก้อน เข้าโรงงานผู้รับบริการกำจัดและบำบัดกากอุตสาหกรรม เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี
ดร.มณทิพย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังการส่งมอบแบตเตอรี่มือถือและถ่านไฟฉายที่หมดอายุการใช้งานให้กับบริษัทบริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด(มหาชน) หรือ GENCO ว่า ปัจจุบันปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และถูกทิ้งปะปนไปกับขยะมูลฝอยทั่วไป เมื่อทิ้งแบตเตอรี่ของโทรศัพท์เคลื่อนที่สู่สิ่งแวดล้อม ส่วนเปลือกห่อหุ้มของแบตเตอรี่จะเสื่อมสภาพหรือผุกร่อน สารเคมีที่เสื่อมสภาพภายในแบตเตอรี่ก็จะไหลออกมาสู่สิ่งแวดล้อม สารพิษเหล่านี้ก็จะเข้าสู่ระบบนิเวศน์และระบบห่วงโซ่อาหารผ่านสิ่งแวดล้อมทางดิน น้ำ และอากาศ
"จากการคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษพบว่าในปี 2545 ปริมาณขยะอันตรายมีจำนวน 386,000 ตันและจะเพิ่มปริมาณขึ้นอีกเป็น 595,000 ตันในปี 2560 ซึ่งปริมาณขยะอันตรายที่เพิ่มขึ้นนี้มีผลมาจากความเจริญทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ทางกรมส่งเสริคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายที่จะเกิดต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมขึ้นซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากวันสิ่งแวดล้อมไทยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2546 ที่ผ่านมา โดยประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนนำแบตเตอรี่มือถือและถ่านไฟฉายที่หมดอายุการใช้งานมาทิ้งตามจุดที่กำหนด ในช่วงระยะเวลา เพียง 2 เดือนมีผู้นำแบตเตอรี่มือถือมาทิ้งไว้จำนวน 8,000 ก้อน ทางกรมจึงได้ขอความร่วมมือไปยังบริษัทบริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการกำจัดและบำบัดกากอุตสาหกรรมที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี"
ดร.สมยศ แสงสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด(มหาชน)หรือ GENCO กล่าวว่า แบตเตอรี่มือถือที่รับมอบจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ ทาง GENCO จะได้นำไปผ่านกระบวนการทำลายอย่างถูกวิธี ซึ่งทำได้ใน 2 วิธีคือ นำไปบดละเอียดและปรับเสถียรภาพให้เป็นกลางก่อนนำไปฝังกลบ หรือ นำไปแพคซีเมนต์ให้เกาะเป็นก้อนแข็ง แล้วจึงนำไปฝังยังหลุมที่เตรียมการอย่างดีที่จังหวัดราชบุรี และมีการดูแลตลอดระยะเวลา 30 ปี ซึ่งการดูแลต่อเนื่องนั้นจะทำให้เกิดความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตอีกด้วย
"สารพิษที่พบในแบตฯมือถือนั้นมีทั้ง แคดเมี่ยม นิเกิล และ ลิเที่ยม รวมทั้งประจุไฟฟ้า การกำจัดจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการอย่างถูกหลักวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้สารเหล่านี้กลับเข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้อีก"
นอกจากนี้ ทางGENCO ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าโทรศัพท์มือถือจะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆจากปี 2545 ประมาณ 6 ล้านเลขหมายเป็น 16 ล้านเลขหมายในปี 2546 คาดว่าจะมีการใช้มือถือไม่ต่ำกว่า 20 ล้านเลขหมาย และจากยอดผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกระบบคาดว่าปัจจุบันมีปริมาณโทรศัพท์มือถือ 12 ล้านเครื่องเป็นเครื่องใหม่ 9 ล้านเครื่อง อีก 3 เครื่องเป็นเครื่องทดแทน ขณะเดียวกันก็มีแบตฯที่เสื่อมสภาพประมาณ 15 - 20 ล้านก้อนต่อปี ดังนั้น ทางกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมควรจะรณรงค์ให้ประชาชนทิ้งแบตเตอรี่มือถืออย่างถูกวิธีต่อไป--จบ--
-นท-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit