DTAC จับมือพันธมิตร CPAC ขยายผลโครงการ “Battery for Life”

23 Mar 2004

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--แทค

DTAC จับมือพันธมิตร CPAC ขยายผลโครงการ “Battery for Life” รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันกำจัดแบตเตอรี่มือถือเก่าโดยไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

CPAC บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านคอนกรีตผสมเสร็จ ในเครือปูนซีเมนต์ไทยประกาศความร่วมมือกับ DTAC ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบ 1800 ขยายผลโครงการ “Battery for Life” หรือ “แบตเตอรี่มีพิษ คิดสักนิดก่อนทิ้ง” เพื่อรณรงค์ให้พนักงาน ลูกค้า และประชาชนทั่วไปร่วมกันกำจัดแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือเก่าอย่างถูกวิธีเพื่อช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมของไทยไว้ให้น่าอยู่และปราศจากสารพิษโดยการสนับสนุนจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC กล่าวถึงการดำเนินงานของโครงการนี้ว่า “ดีแทคตระหนักดีว่าแนวโน้มของขยะจากเครื่องโทรศัพท์มือถือจะก่อปัญหาด้านการจัดการและมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นตามปริมาณการใช้โทรศัพท์ ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นนั้น คือการเร่งรณรงค์และส่งเสริมให้มีการแยกขยะอย่างถูกวิธี พร้อมๆ ไปกับการให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างแพร่หลายและนี่จึงเป็นที่มาของโครงการ Battery for Life หรือแบตเตอรี่มีพิษคิดสักนิดก่อนทิ้งที่ดีแทคเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 โดยการรณรงค์ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดคอนเสิร์ตร่วมกับแกรมมี่ การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงการไปจัดแสดงบูธนิทรรศการให้ความรู้ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี มีประชาชนนำแบตเตอรี่เก่าไปทิ้งที่ดีแทคช้อปและสำนักงานบริการลูกค้ากว่า 400 แห่งของเรา โดยในปี 2546 มีปริมาณกว่า 4 ตัน แต่ถ้านำมาเทียบกับจำนวนของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่มีจำนวน 22.5 ล้านรายแล้ว จำนวนแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งานน่าจะมีปริมาณที่มากกว่าที่ DTAC จัดเก็บได้ และหากขยะเหล่านี้ไม่ได้รับการจัดเก็บและกำจัดอย่างถูกวิธี สารโลหะหนักที่ผสมอยู่จะเกิดการสะสม การรั่วซึมของสารพิษจะปนเปื้อนลงในดินและน้ำ ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อสภาพแวดล้อมของเราดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ CPAC ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเช่นกัน และให้เกียรติเข้าร่วมเป็นพันธมิตรที่ประกาศสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมดังกล่าวด้วย”

ด้าน นายอรรณพ เตกะจรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือ CPAC กล่าวถึงเหตุผลของการนำบริษัทเข้าร่วมโครงการ Battery for Life หรือแบตเตอรี่มีพิษคิดสักนิดก่อนทิ้งว่า “ในส่วนของ CPAC เองนั้นได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งแวดล้อมนั้น CPAC ถือว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา ไม่เว้นแม้แต่พนักงานของ CPAC ที่มีจำนวนกว่า 1,300 คน จากสำนักงานและกว่า 200 โรงงานทั่วประเทศ ทุกคนมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่ไม่ต้องการให้ขยะพิษเหล่านี้ถูกทิ้งปนเปื้อนไปกับขยะทั่วไป และสร้างมลพิษที่จะส่งผลร้ายต่อลูกหลานของเราในอนาคต เมื่อเรามีเจตนารมณ์เดียวกัน ความร่วมมือระหว่างสององค์กรใหญ่จึงเกิดขึ้น เพราะ CPAC เชื่อว่าการร่วมกันสองแรงย่อมทำให้การรณรงค์และการส่งเสริมให้มีการกำจัดขยะพิษอย่างถูกวิธีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โดยที่ CPAC จะจัดทำกล่องรับแบตเตอรี่เก่าที่มีสัญลักษณ์ของสามหน่วยงาน คือ CPAC DTAC และกรมควบคุมมลพิษ นำไปตั้งที่สำนักงานและโรงงานทั่วประเทศ เพื่อให้พนักงานและลูกค้านำแบตเตอรี่เก่าไปทิ้ง จากนั้นเมื่อมีจำนวนที่มากพอ CPAC จะเก็บรวบรวมและนำส่งให้ DTAC เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป พร้อมๆ ไปกับการประชาสัมพันธ์โครงการไปยังเครือข่ายต่างๆ ของบริษัทด้วย ทั้งนี้โครงการ Battery for Life แบตเตอรี่มีพิษคิดสักนิดก่อนทิ้ง เป็นเพียงโครงการเพื่อสังคมโครงการแรกระหว่าง CPAC และ DTAC เท่านั้น ทั้งสององค์กรยังจะคงมีความร่วมมือในโครงการอื่นๆ ต่อๆไปในอนาคต”

สำหรับ นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ภาคราชการที่มีส่วนสนับสนุนโครงการ Battery for Life แบตเตอรี่มีพิษคิดสักนิดก่อนทิ้ง มาเป็นอย่างดีได้แสดงความคิดเห็นว่า “นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญและเป็นแกนนำในการรณรงค์เชิญชวนให้ทุกคนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของแบตเตอรี่มือถือ ซึ่งมีส่วนประกอบของโลหะหนักและสารพิษ เช่น สารแคตเมี่ยม สารปรอท สารตะกั่ว เป็นต้น ซึ่งถ้าสะสมมากขึ้นโดยไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี การรั่วซึมก็จะเกิดขึ้น สามารถสร้างความเสียหายและจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข การป้องกันสาเหตุของปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นเป็นเรื่องที่ควรทำมากกว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะมีพิษเหล่านี้โดยเฉพาะ ซึ่งภาครัฐเองก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้มอบหมายให้ทางกรมฯ รวบรวมข้อมูลและแนวทางต่างๆ อยู่ เพื่อออกกฎระเบียบพร้อมทั้งกรอบยุทธศาสตร์ว่าด้วยการกำจัดเศษทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล โดยทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตควรมีส่วนรับผิดชอบในการกำจัดขยะพิษ เพราะอันที่จริงแล้ว ทุกคนต่างก็มีส่วนร่วมในการสร้างขยะพิษเหล่านี้ขึ้นมา กรมควบคุมมลพิษจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์กรต่างๆ จะเข้ามาร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมของเราให้มากยิ่ง ๆ ขึ้น ซึ่งทางภาครัฐพร้อมเต็มที่ที่จะให้การสนับสนุน”

โครงการ Battery for Life แบตเตอรี่มีพิษคิดสักนิดก่อนทิ้ง เป็นเพียงหนึ่งในโครงการรณรงค์เชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากมิได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากภาคประชาชนแล้ว ความมุ่งหวังที่จะรักษาสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ให้คงอยู่เพื่อลูกหลานคนไทยในอนาคตต่อไปก็คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก.

ข้อมูลและตัวเลขเกี่ยวกับจำนวนแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือในประเทศไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณ ณ สิ้นปี 2546 มีจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เปิดใช้งานประมาณ 22.5 ล้านเลขหมาย และคาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 27 ล้านเลขหมายในปี 2547 ขณะที่จำนวนแบตเตอรี่มือถือที่ใช้งานอยู่ 40 ล้านก้อนในสิ้นปี 2546 จะเพิ่มขึ้นเป็น 46.7 ล้านก้อนในปี 2547 และแบตเตอรี่มือถือเก่าที่หมดอายุการใช้งานจะเพิ่มจาก 13 ล้านก้อนในปี 2546 เป็น 18 ล้านก้อนในปี 2547

ผลการศึกษาถึงพฤติกรรมการกำจัดขยะมือถือ อันได้แก่ แบตเตอรี่เก่า และตัวเครื่องลูกข่ายที่หมดอายุของผู้ใช้บริการพบว่า ในการจัดการกับแบตเตอรี่เก่านั้น ร้อยละ 37.8 ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทิ้งแบตเตอรี่เก่าให้กลายเป็นขยะ ในขณะที่ร้อยละ 21.4 เก็บเอาไว้โดยไม่ได้ทำอะไร ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นขยะต่อไป ร้อยละ 16.2 ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจะขายแบตเตอรี่เก่าให้กับร้านค้า และร้อยละ 13.5 ให้ผู้อื่นไปใช้งานต่อ นอกจากนี้ พบว่าร้อยละ 11.1 ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจะส่งคืนให้กับบริษัทผู้ให้บริการและผู้ผลิตที่ตั้งตู้รับคืนแบตเตอรี่เก่าไว้ที่ศูนย์บริการ

โครงการ Battery for Life เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ดีแทคเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่มีโครงการจัดเก็บแบตเตอรี่หมดอายุเพื่อนำไปดำเนินการกำจัดอย่างถูกวิธี

ดีแทคเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 โดยการรณรงค์ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดคอนเสิร์ตร่วมกับแกรมมี่ การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงการไปจัดแสดงบูธนิทรรศการให้ความรู้ตามสถานที่ต่าง ๆ

ประชาชนทั่วประเทศสามารถนำแบตเตอรี่มือถือทุกระบบ ทุกยี่ห้อ ที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งานแล้วมาทิ้งที่กล่องรับแบตเตอรี่ที่มีสัญลักษณ์ของโครงการฯ ได้ที่สำนักงานบริการลูกค้า และดีแทคช้อปที่มีอยู่กว่า 400 สาขาทั่วประเทศ จากนั้นดีแทคจะส่งมอบให้ GENCO ไปดำเนินการกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป

ในปี 2546 โครงการ Battery for Life ได้ทำการกำจัดแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งานไปกว่า 4 ตัน.

รายละเอียดเพิ่มเติม

:: สื่อมวลชน ::

พรนานา อภิลักษณ์พาณิชย์

ฝ่าย Media Relations

สำนัก Corporate Communications

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

โทรศัพท์ 02 202 8000 #31887

โทรสาร 02 202 8895, 02 202 8859

มือถือ 01 623 9895

e-mail: [email protected]

:: ลูกค้า ::

DTAC Call Center โทรศัพท์ 02 202 7000 หรือ 1800 จากโทรศัพท์มือถือ--จบ--

-นห-