กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--สสวท.
นายสมสกุล วงศ์ปาลีย์ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย นักเรียนทุน โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดทำผลงานวิทยาศาสตร์เรื่องการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบและฤทธิ์ระงับปวดของสารสกัดจากหญ้าปักกิ่ง
หญ้าปักกิ่ง (Murdannia loriformia Hassk Rolla Ras et Kammatly) เป็นสมุนไพรที่จัดเป็นพืชล้มลุก ชอบดินร่วนปนทราย แสงแดดรำไร ในประเทศจีนใช้สำหรับรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจในประเทศไทยใช้น้ำคั้นสดดื่มเพื่อรักษามะเร็ง ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าหญ้าปักกิ่งมีฤทธิ์ยับยั้งปานกลางต่อเซลล์มะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่ และยังมีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้นกันของร่างกาย นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถต้านการก่อกลายพันธุ์ของยีนและทำลายสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ด้วย แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบและฤทธิ์ระงับปวด ดังนั้นจึงน่าสนใจที่จะทำการทดสอบคุณสมบัติดังกล่าวโดยใช้สารสกัดเอธานอล ของหญ้าปักกิ่งมาทำการทดสอบ
ขั้นตอนแรกเป็นการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยใช้การทดลอง Ethylphenylpropiorate (EPP) - induced ear edema in rat แบ่งการทดลองเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มควบคุมได้รับ acetone 2.กลุ่มยามาตรฐาน คือ Phenylbutazone ขนาด 1 มิลลิกรัม/หู 3.กลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากหญ้าปักกิ่ง ขนาด 3 มิลลิกรัม/หู ทำการทดลองโดยวัดความหนาของหูหนูก่อนการทดลอง จากนั้นทาสารทดสอบบนใบหูหนูทั้งด้านในและด้านนอก ปริมาตร 20 ไมโครลิตร/หู ตามด้วย EPP ทันทีเพื่อชักนำให้เกิดการบวมขึ้น หลังจากนั้นวัดความหนาของใบหูหนูที่เวลา 15,30,60 และ 120 นาที นำผลการทดลองที่ได้ไปคำนวณหาเปอร์เซ็นต์ยับยั้งการบวมของหูหูน ที่เวลาต่างๆ ผลการทดลองพบว่า หญ้าปักกิ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการบวมของหูหนู ที่เวลาต่างๆ สูงกว่ายามาตรฐาน Phenylbutazone
ตอนที่ 2 เป็นการศึกษาฤทธิ์ระงับปวดและความสัมพันธ์ของปริมาณของสารสกัดที่ให้กับผลการตอบสนอง โดยใช้การทดลอง formalin test การทดลองจะแบ่งเป็น early phase และ late phase ใน early phase เป็นการศึกษาฤทธิ์ระงับปวดที่เกิดผ่านระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system) สำหรับ late phase เป็นการศึกษาฤทธิ์ระงับปวดที่เกิดผ่านระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral nervous system) การทดลองแบ่งหนูถีบจักรออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มควบคุมให้ 5% tween 80 2.กลุ่มยามาตรฐาน คือ แอสไพรินขนาด 150 มิลลิกรัม-กิโลกรัมน้ำหนักตัว 3.กลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากหญ้าปักกิ่งขนาด 7.5, 15 และ 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว ป้อนสารทดสอบทางปาก หลังจากนั้นที่เวลา 60 นาทีใน early phase และ 40 นาทีใน late phase หลังป้อนสารทดสอบ ฉีด 1% formalin ใน 0.9% NaC1 เข้าใต้ผิวหนังด้านหลังเท้าของเท้าหลังด้านขวาของหนู ใน early phase จับเวลาการเลียเท้าหลังของหนูทันทีหลังฉีด formalin เป็นเวลา 5 นาที และใน late phase จับเวลาการเลียเท้าของหนู หลังฉีด formalin ไปแล้ว 20 นาที เป็นเวลา 10 นาที จากนั้นนำผลการทดลองที่ได้ไปคำนวณหาเปอร์เซ็นต์ยับยั้งการเลียเท้าหลัง จากการทดลอง พบว่าหญ้าปักกิ่งมีฤทธิ์ระงับปวดโดยผ่านทาง CNS และ PNS
จากผลการทดลองทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า หญ้าปักกิ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและฤทธิ์ระงับปวดค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับยามาตรฐานที่ใช้ ดังนั้น แนวทางการพัฒนาสมุนไพรไทยให้มีศักยภาพเทียบเท่ายาสังเคราะห์ที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูง แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการทดสอบความปลอดภัยในการใช้หญ้าปักกิ่งก่อน
ขอเชิญร่วมงาน "คลื่นลูกใหม่วิทยาศาสตร์ไทย กลไกพัฒนาชาติ" เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทาง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(พสวท.) ระหว่างวันที่ 1-2 เมษายน 2547 ณ Hall อิมแพค เมืองทองธานี จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งมีกิจกรรมน่าสนใจทางวิทยาศาสตร์มากมายให้เลือกชม--จบ--
-ดพ/นท-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit