ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต "ยูคอม" ที่ระดับ "BBB"

02 Apr 2004

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ ยูคอมที่ระดับ "BBB" โดยอันดับเครดิตสะท้อนฐานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของแต่ละกลุ่มธุรกิจ คือ บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง การบริหารช่องทางจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ และการวางระบบเครือข่ายงานโทรคมนาคม อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความสามารถและประสบการณ์ของผู้บริหาร ตราสัญลักษณ์ที่เป็นที่ยอมรับ และแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจการให้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจการให้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง การบริหารช่องทางจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ ตลอดจนความผันผวนของธุรกิจการวางระบบเครือข่ายโทรคมนาคม ทั้งนี้ แม้ว่าสัดส่วนทุนต่อหนี้ของบริษัทจะมีสถานะที่ดีขึ้น แต่ระดับของกระแสเงินสดต่อภาระหนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 42% ใน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเกชั่น จำกัด (มหาชน) หรือแทค ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ทำให้บริษัทมีแหล่งสภาพคล่องทางการเงิน

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ประเทศไทยยังมีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตและบริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง (บรอดแบนด์)ในระดับต่ำ แนวโน้มของธุรกิจมีการเติบโตที่ดีเนื่องมาจากความต้องการทั้งจากภาคองค์กรธุรกิจและผู้ใช้บริการรายบุคคล ในขณะที่ภาครัฐมีนโยบายให้มีการใช้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ และมีการตั้งเป้าหมายให้มีผู้ใช้บริการ

บรอดแบนด์จำนวน 1 ล้านคนภายในปี 2547 ในด้านของอุปทานประกอบไปด้วยผู้ให้บริการหลายรายโดยราคามีแนวโน้มลดลงเนื่องจากมีการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดโลก อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับการจัดลำดับจาก The International Data Corporation (IDC) ให้เป็นบริษัทที่ได้รับการการยอมรับที่ดีในด้านการให้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงในแง่ของการให้บริการหลังการขายและความเพียงพอของความเร็วในการส่งข้อมูล

ทริสเรทติ้งกล่าวถึงผู้ประกอบการธุรกิจการจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งรวมถึงยูคอมว่า มีอัตรากำไรที่ลดลงเนื่องจากการแข่งขันที่มีมากขึ้น หลังจากที่มีการปลดล็อค IMEI (International Mobile Equipment Identity) และแยกการขายระหว่างเครื่องโทรศัพท์กับซิมการ์ดแล้วได้ส่งผลทำให้ราคาของเครื่องโทรศัพท์มือถือถูกลงเพราะมีผู้ประกอบการจัดจำหน่ายมากขึ้น โดยผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยก็สามารถที่จะครอบครองโทรศัพท์มือถือได้ นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ล้าสมัยเร็วขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการที่รอบคอบจะต้องมีการบริหารสินค้าคงเหลือที่ดี

ส่วนผู้ประกอบการงานวางเครือข่ายธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งรวมถึงยูคอมนั้นจะต้องมีการแข่งขันในการประมูลงานโครงการและต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูกค้า โดยลักษณะของธุรกิจมีความไม่แน่นอนทั้งจากการแข่งขันในการประมูลและจากงบประมาณการลงทุนของลูกค้า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในปัจจุบันพยายามที่จะส่งเสริมการสร้างระบบโทรคมนาคมและการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงให้มากขึ้นซึ่งจะทำให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชน

ทริสเรทติ้งกล่าวถึงภาวะการเงินของยูคอมว่า หนี้สินของบริษัทลดลงจาก 9.9 พันล้านบาทในปี 2543 มาอยู่ที่ 8.1 พันล้านบาทในปี 2544 และลดลงเป็น 6.7 พันล้านบาทในปี 2545 และ 6.3 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2546 อัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงจาก 66% ในปี 2543 เป็น 54% ในปี 2544 46% ในปี 2545 และ 41% ณ สิ้นปี 2546 อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดต่อภาระหนี้ของบริษัทยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ 15.6% ในปี 2544 16.6% ในปี 2545 และลดลงมาอยู่ที่ 16% ณ สิ้นปี 2546 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2546 บริษัทถือหุ้น 197 ล้านหุ้นในแทคซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์

โดยการลงทุนดังกล่าวมีมูลค่าตามราคาตลาดประมาณ 13 พันล้านบาท ในขณะที่มียอดหนี้สุทธิหลังหักเงินสดประมาณ 5 พันล้านบาท ดังนั้น มูลค่าการลงทุน ณ ปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 2.7 เท่าของยอดหนี้สุทธิ ซึ่งสามารถสร้างสภาพคล่องทางการเงินให้แก่บริษัทได้--จบ--

-นท-