ฟิทช์เพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศของบริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด เป็น 'A(tha)'

26 Feb 2004

กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวและระยะสั้นของบริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด ("SPP") เป็น 'A(tha)' จาก 'A-(tha) และเป็น 'F1(tha)' จาก 'F2(tha)' ตามลำดับ แนวโน้มมีเสถียรภาพ การเพิ่มอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนถึงสัดส่วนการถือหุ้นของ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ("SCC") ที่ถือหุ้น 98% ใน SPP รวมถึง การเพิ่มอันดับเครดิตของ SCC โดยฟิทช์ ฟิทช์เห็นว่า SPP จะยังคงรักษาผลประกอบการและสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังมีส่วนช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของเครือ SCC การปรับอันดับเครดิตใหม่นี้จะมีผลให้หุ้นกู้ของบริษัท เยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2544 มูลค่า 5 พันล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2547 และ ครั้งที่ 2/2544 มูลค่า 5 พันล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2549 ซึ่งค้ำประกันหนี้โดย บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับอันดับเครดิตที่ 'A(tha)' เช่นกัน โดยอันดับเครดิตของหุ้นกู้สะท้อนถึงการค้ำประกันหนี้โดยบริษัทแม่สถานะทางการเงินของ SPP จัดอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยในปีพ.ศ.2546 อัตราส่วนหนี้สินต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (Consolidated net debt to EBITDA ratio) อยู่ที่ 1.4 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย ต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA/Interest expense) อยู่ที่ 10.2 เท่า

ถึงแม้ว่า SPP มีการใช้เงินลงทุนในการซื้อหุ้นเพิ่มในบริษัท United Pulp and Paper และ บริษัทไทยเคนเปเปอร์ จำกัด (มหาชน) หนี้สินรวมของ SPP เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 1.1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปีพ.ศ.2545 เป็น 1.4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปีพ.ศ.2546 ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างคงที่ของบริษัท ณ สิ้นปีพ.ศ.2546 สัดส่วนหนี้สินระยะสั้นของ SPP อยู่ที่ 55% (นับรวมหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปีนี้) ในขณะที่สัดส่วนหนี้สินระยะยาวอยู่ที่ 45% (นับรวมหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปีพ.ศ. 2549) เงินสดที่ใช้ในการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้คาดว่าจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ในอนาคตหาก SPP มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม เงินกู้คาดว่าจะอยู่ในรูปของเงินกู้ยืมจากบริษัทแม่ ณ แผนการลงทุนปัจจุบัน SPP มีแผนที่จะปรับปรุงกำลังการผลิตในส่วนของกระดาษพิมพ์เขียนและกระดาษประเภทอุตสาหกรรม รวมถึงการเพิ่มโรงงานผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ภายในปีพ.ศ.2548 นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการลงทุนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของบริษัท United Pulp and Paper และบริษัท ฟินิกซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน)

ปีพ.ศ.2546 ยอดขายของ SPP เพิ่มขึ้น 15% ในขณะที่ EBITDA 9.7 พันล้านบาทอยู่ในระดับใกล้เคียงจากปีก่อน ส่วนต่างของ EBITDA (EBITDA margin) ลดลงจาก 32% ปีพ.ศ.2545 มาเป็น 29% ปีพ.ศ.2546 สืบเนื่องมาจากราคาวัตถุดิบของกระดาษประเภทอุตสาหกรรมที่สูงขึ้นและการรวมบัญชีของบริษัท United Pulp and Paper เข้ามาใน SPP ความพยายามในการส่งเสริมการผลิตที่ครบวงจรรวมถึงแผนการลงทุนเพิ่ม ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนการเติบโตของ SPP ในระยะ 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากในขณะนี้ บริษัทได้เดินเครื่องจักรที่เต็มกำลังการผลิต และส่วนต่างของผลกำไรของผลิตภัณฑ์ไม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงมากนัก ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในประเทศน่าจะช่วยให้ SPP สามารถเพิ่มสัดส่วนการขายในประเทศซึ่งโดยปกติมีส่วนต่างของผลกำไรที่ดีกว่า การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทอาจส่งผลทางลบต่อยอดขายต่างประเทศของบริษัท อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของ SPP คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในระยะ 2 ปีข้างหน้า

ติดต่อ:

อรวรรณ การุณกรสกุล, CFA, ผู้อำนวยการภาคอุตสาหกรรม

+662 655 4766

วสันต์ ผลเจริญ, นักวิเคราะห์ ภาคอุตสาหกรรม

+662 655 4763

Vincent Milton, กรรมการผู้จัดการ

+662 655 4759--จบ--

-รก-