กองทุนอนุรักษ์พลังงาน หนุน ม.ธรรมศาสตร์ สร้างบ่อ หมักก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียโรงงานน้ำมันปาล์ม

10 Mar 2004

กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--สนพ.

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หนุนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างบ่อ หมักก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ จังหวัดกระบี่ สำเร็จเป็น แห่งแรกในประเทศไทย ระบุผลิตก๊าซชีวภาพได้วันละ 6,000 ลูกบาศก์เมตร ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 180 กิโลวัตต์

ผศ.ดร.อรุณ ลาวัลย์ประเสริฐ ภาควิชาเทคโนโลยีชนบท คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ สำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยได้ทำการติดตั้งระบบต้นแบบที่โรงงานเอเชี่ยนน้ำมันปาล์ม จังหวัดกระบี่ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ด้วยการใช้เทคโนโลยีแบบถังกวนชนิดไร้อากาศ (Continuous Stirred Tank Reactor,CSTR) ซึ่งมีคุณสมบัติในการบำบัดน้ำเสียที่ใช้พื้นที่น้อย ควบคุมระบบได้ง่าย และสามารถผลิตก๊าซชีวภาพมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงงานได้

สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ประกอบด้วย ถังเหล็กทรงกระบอก 2 ถังแบบต่อเนื่อง ขนาด 2,000 ลูกบาศก์เมตร ภายในถังติดตั้งระบบกวน (Mixer Recirculating Biogas) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสัมผัสระหว่างแบคทีเรียกับน้ำเสียได้ดีขึ้น และใบกวาดตะกอนที่ก้นถัง โดยระบบดังกล่าวได้อาศัยหลักการทำงานของกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ต้องการออกซิเจน ทำหน้าที่ย่อยลสายสารอินทรีย์ในน้ำเสียโรงงานน้ำมันปาล์ม และทำให้เกิดก๊าซชีวภาพขึ้น ซึ่งก๊าซที่ผลิตออกจะถูกนำไปใช้การผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนน้ำเสียที่ออกจากระบบ จะถูกนำเข้าระบบบำบัดน้ำเสียเดิมของโรงงานเพื่อบำบัดให้มีคุณภาพที่ดี และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

“ภายหลังการทดสอบระบบที่โรงงานเอเชี่ยนน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบวันละ 100 ตัน หรือปีละ 30,000 ตัน และมีปริมาณน้ำเสียเฉลี่ยวันละ 300 ลูกบาศก์เมตร พบว่าระบบดังกล่าว สามารถผลิตก๊าซชีวภาพวันละ 6,000 ลูกบาศก์เมตร หรือเทียบเท่าก๊าซหุงต้ม (LPG) 184 ถัง ขนาด 15 กิโลกรัม และปัจจุบันได้นำมาใช้เดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบดัดแปลงขนาด 90 กิโลวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง คิดเป็นค่าพลังงานไฟฟ้า ประมาณ 2,200 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน ซึ่งทำให้โรงงานประหยัดเงินค่าไฟฟ้าได้เดือนละ 6,600 บาท” ผศ.ดร.อรุณ กล่าว

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 49 โรงงาน มีโรงงานที่ได้มาตรฐานเพียง 17 โรงงาน โดยทะลายปาล์มสด 1 ตัน ก่อให้เกิดน้ำเสียประมาณ 1 ลูกบาศก์เมตร มีค่าบีโอดี 27 กิโลกรัม ค่าวีโอดี 52 กิโลกรัม ของแข็งแขวนลอย 13 กิโลกรัม น้ำมันและไข 9 กิโลกรัม ทำให้กระบวนการสกัดน้ำมันแต่ละครั้งมีการใช้น้ำในปริมาณมาก และถ้าหากโรงงานไม่มีระบบจัดการน้ำเสียที่เกิดขึ้นดีพอก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้--จบ--

-นท-