กระทรวงพลังงาน ชู นโยบายความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานต่างประเทศ

03 Jun 2004

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--กระทรวงพลังงาน

ก.พลังงาน ชู นโยบายความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ การพัฒนาพลังงานทดแทน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมทั้งผลักดันประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางพลังงานภูมิภาค มั่นใจเป็นผลงานเด่น ของรัฐบาลในรอบปี

นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้สรุปผลการดำเนินการ ในรอบปีที่ 3 ของคณะรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ( 26 ก.พ. 46 – 26 ก.พ. 47) ซึ่งได้รวบรวมเป็นผลงานของรัฐบาล โดยสามารถแบ่งเป็นประเด็นหลัก ๆ ได้ดังนี้

1. ความมั่นคงด้านพลังงาน และลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ ในรอบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเสถียรภาพ และมีความมั่นคงด้านพลังงานเพิ่มขึ้น อย่างมากจากหลายๆ มาตรการและนโยบายที่สำคัญ เช่น ลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ โดยเร่งรัดการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว (Condensate) จากแหล่งในประเทศเพิ่มขึ้น ถึงวันละ 120,000 บาเรล หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับ 3 ปีที่แล้ว การเร่งรัดพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ และกระจายการใช้ก๊าซธรรมชาติให้ทดแทนน้ำมันมากยิ่งขึ้น

โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณวันละ 2,655 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยสัดส่วน 22.5% ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เติมรถยนต์และเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ที่เหลือประมาณ 77.5% ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งการประยุกต์ใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้น เช่น การขยายของโครงการ NGV เป็น 23 สถานี และมีรถ NGV กว่า 1,800 คัน

นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดการสำรวจและลงทุนพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ โดยในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมามีเงินลงทุนในการประกอบกิจการปิโตรเลียมถึง 141,626 ล้านบาท มีการผลิตปิโตรเลียมขึ้นใช้ในประเทศเป็นมูลค่ากว่า 381,401 ล้านบาท โดยเก็บเงินส่วนแบ่งรายได้เข้ารัฐในรูปค่าภาคหลวง และเงินภาษีเงินได้ปิโตรเลียมถึงประมาณปีละ 30,000 ล้านบาท รวมทั้งการดำเนินการเพื่อปรับฐานราคาก๊าซธรรมชาติ ไม่ให้แพงเกินไป ด้วยการแก้ไขสัญญาเดิมเพื่อปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งไพลิน และแหล่งทานตะวัน เบญจมาศ ทำให้ประเทศชาติประหยัดได้กว่า 31,280 ล้านบาท

2. การพัฒนาพลังงานทดแทน โดยในปีที่ผ่านมาสามารถแบ่งกลุ่มงานได้ 3 ส่วน คือผลงานด้าน พลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตติดตั้งระบบผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ประมาณ 2.5 MW โดยเป็นระบบผลิตเล็กๆ ติดตั้งตามครัวเรือนชนบท สถานีอนามัย และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น ผลงานด้าน พลังงานน้ำ กระทรวงพลังงานจะดำเนินการร่วมกับ กระทรวงเกษตรฯ ในการพัฒนาพลังงานจากท้ายเขื่อนชลประทาน ในเบื้องต้นมีเขื่อนที่มีศักยภาพประมาณ 400 แห่ง สามารถปั่นไฟฟ้าได้ถึง 150 MW และผลงานด้าน เชื้อเพลิงจากพืช เอทานอล และไบโอดีเซล ในปี 46 ยอดขายแก๊ซโซฮอล์ ตกประมาณ 1 ล้านลิตรต่อเดือน ในปี 47 เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านลิตร โดยมีสถานีบริการบางจาก 100 แห่ง และ ปตท. 55 แห่ง โดยกระทรวงพลังงานมีเป้าหมายที่ขยายการใช้แก๊ซโซฮอล์ให้ได้ 1 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2549 และเป็น 3 ล้านลิตรต่อวันในปี 2554

3. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยกระทรวงพลังงานได้วางเป้าหมายในระยะยาวเพื่อลดสัดส่วนอัตราการเติบโตของการใช้พลังงานต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) จาก 1.4 : 1 ในปัจจุบัน ให้เหลือ 1 : 1 ภายในปี 2550 แล้วจะทำให้ประเทศไทยสามารถลดค่าใช้จ่ายพลังงานของประเทศได้ถึง 3.1 ล้านล้านบาท ในช่วงปี 2550-2560 โดยวางแนวทางปฏิบัติ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคคมนาคมขนส่ง พัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า เปลี่ยนระบบการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาใช้ระบบการขนส่งมวลชนแทน มีการพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ 3,000 กิโลเมตร ส่งเสริมระบบขนส่งมวลชน และระบบขนส่งสินค้าทางรถไฟและทางเรือ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้การขนส่งน้ำมันทางท่อมากยิ่งขึ้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม จะมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในเชิงศักยภาพการแข่งขันและนโยบายการส่งเสริมการลงทุน โดยพิจารณารวมทั้งด้านพลังงาน มาตรการด้านภาษีอากร เพื่อสนับสนุนการประหยัดพลังงานในโรงงานและการขนส่ง โดยเฉพาะการยกเว้นภาษีนิติบุคคล เฉพาะส่วนที่ได้จากการประหยัดพลังงาน เร่งจัดทำมาตรฐานสินค้าประหยัดพลังงาน ให้ครอบคลุมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์

4. ผลักดันประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาค ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้ประเทศมีความสะดวกในการจัดหาพลังงาน ลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนพลังงาน เพราะประเทศจะกลายเป็นแหล่งรวม และแหล่งกระจายพลังงานของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะการดำเนินยุทธศาตร์ด้านน้ำมันแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ระยะสั้น ได้เร่งดำเนินการพัฒนาให้เกิดศูนย์กลางการค้าน้ำมัน หรือที่เรียกว่าศูนย์ศรีราชา (Sriracha Hub) ซึ่งจุดยุทธศาสตร์จะอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีซึ่งได้ดำเนินการเรียบร้อย ส่วนในระยะยาว คือการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการสำรองน้ำมันของภูมิภาค เพื่อที่จะสร้างโครงข่ายที่สามารถขนส่งน้ำมันไป-กลับระหว่างผู้ผลิตด้านตะวันตก (ตะวันออกกลาง และแอฟริกา) และผู้ใช้ในด้านตะวันออก (เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวัน เป็นต้น) ให้เกิดขึ้น

ทั้งนี้จะมีการสร้างท่อน้ำมันพาดระหว่างฝั่งทะเลอันดามัน คือที่อำเภอทับละมุง จังหวัดพังงา ไปยังฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยที่อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช

พร้อมทั้งคลังน้ำมัน ณ จุดปลายด้านอ่าวไทย ที่อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมทั้งสร้างคลังน้ำมัน ณ จุดปลายของแต่ละฝั่งสำหรับเป็นที่พักน้ำมัน ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนนั้น ประเทศไทยจะปรับบทบาทของประเทศครั้งสำคัญ เป็นประเทศที่มีความศักยภาพด้านพลังงาน และสามารถแข่งขันได้กับนานาประเทศทั่วโลก--จบ--

-นท-