กทม. จัดเสวนา “แผนที่ชุมชน (Atlas) บอกเล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน สืบสานอนาคตกรุงรัตนโกสินทร์”

25 May 2004

กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--กทม.

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (21 พ.ค.47) เวลา 09.00 น. ที่ห้องทับทิม โรงแรมรัตนโกสินทร์ คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการเสวนาแผนที่ชุมชน (Atlas) บอกเล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน สืบสานอนาคตกรุงรัตนโกสินทร์” โดยมี นายพิชัย ไชยพจน์พานิช ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง นายโกสิน เทศวงษ์ ผู้อำนวยการเขตพระนคร ผู้แทนสถานศึกษาและประชาชนผู้สนใจ ร่วมเสวนา

กรุงรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับพัฒนาการของกรุงเทพมหานครยาวนานและเป็นที่รวมของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศทั้ง วัด วัง โบราณสถานและย่านชุมชนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในกรุง รัตนโกสินทร์มีสภาพเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดความตระหนักของคนในท้องถิ่นถึงคุณค่าของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมนั้นๆ อันนำไปสู่การพัฒนาในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม ทั้งตัวอาคารและพื้นที่โดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่เป็นภาพสะท้อนพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สามัญชนธรรมดา เช่น ชุมชนเก่า แนวตึกโบราณ กลุ่มบ้านไม้โบราณ เป็นต้น หรือที่เรียกว่า “แหล่งสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม” ที่ไม่ใช่เพียงวัด วัง หรือโบราณสถานที่สำคัญ ซึ่งได้รับการดูแลจากกรมศิลปากรเท่านั้น

แผนที่ชุมชน (Atlas) เป็นหนึ่งในมาตรการและเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้คนในท้องถิ่นได้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของแหล่งสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา ลักษณะทางกายภาพปัจจุบัน สภาพความสำคัญ และปัญหาภัยคุกคามของพื้นที่ ประกอบกับแผนที่ทางภูมิศาสตร์เพื่อใช้เป็นจุดอ้างอิงร่วมของชุมชน และการกำหนดแผนในการอนุรักษ์ พัฒนาพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมต่อไปในอนาคต สำหรับขอบเขตในการจัดทำแผนที่ชุมชน (Atlas) ของพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เน้นไปที่พื้นที่บริเวณแหล่งสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม 21 แหล่ง ใน 4 พื้นที่สำคัญ ได้แก่ พื้นที่ที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ด้านเหนือ (แขวงชนะสงคราม แขวงตลาดยอด และแขวงวัดบวรนิเวศ) พื้นที่ที่ 2 กรุงรัตนโกสินทร์ด้านทิศตะวันออกส่วนกลาง (แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ แขวงเสาชิงช้า แขวงสำราญราษฎร์ แขวงวัดราชบพิตร ) พื้นที่ที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ด้านทิศใต้(แขวงวังบูรพาภิรมย์) และพื้นที่ที่ 4 กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน(แขวงพระบรมมหาราชวัง)

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ เป็นแหล่งรวมประวัติศาสตร์ มีเรื่องเล่าขานมาตั้งแต่สมัยอดีตกาล ไม่ว่าจะเป็นชุมชนสามแพร่ง ชุมชนตรอกศิลป์ เป็นต้น การที่จะทำแผนที่ชุมชนให้สำเร็จนั้น ต้องมาจากการสำรวจพื้นที่ เมื่อสำรวจเรียบร้อยแล้วจึงมาดำเนินการวางแผนการใช้ การอนุรักษ์ การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่อนุรักษ์ และเป็นที่อยู่อาศัยที่มีความสุขสำหรับลูกหลานในอนาคต--จบ--

-นห-