"เรือหางยาวกระบี่รักษ์อันดามัน" การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน… สู่แผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด

19 Nov 2003

กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--พีซี แอนด์ ซี

น้อยครั้งที่จะมีการมองอีกมุมหนึ่งของเรือหางยาว ว่ามิใช่เป็นเพียงพาหนะการเดินทางทางน้ำหรือสำหรับแข่งความเร็วเท่านั้น กิจกรรมการประกวด "เรือหางยาวกระบี่รักษ์อันดามัน" เป็นการมองออกมาอีกมุมหนึ่ง เป็นมุมที่เอื้อประโยชน์อย่างยั่งยืน ต่อผู้ประกอบการเรือหางยาวเพื่อการท่องเที่ยว ต่อหน่วยงานภาครัฐที่สามารถควบคุมความถูกต้องของการจดทะเบียนเรือ ต่อชุมชนรากหญ้าในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และต่อเศรษฐกิจชาติในการที่จะกำหนดให้กิจกรรมการประกวด เรือหางยาวกระบี่รักษ์อันดามัน เข้าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดตามการนำเสนอของผู้ว่าราชการจังหวัดยุคซีอีโอ

เรือหางยาว โดยเฉพาะที่จังหวัดกระบี่มีความเป็นเอกลักษณ์ และสร้างความประทับใจให้แก่ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสัมผัส และนับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นแปรผันตามอัตราการเติบโตด้านการ ท่องเที่ยวของจังหวัด จากสถิตินักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดกระบี่ ในรอบ 3 ปี (2540-2542) มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 12.04% เป็นคนไทย 10.05% และ ชาวต่างประเทศ 14.51% โดยสถิติปี 2542 พบว่ามีนักท่องเที่ยว 892,325 ราย เป็นคนไทย 472,068 ราย ชาวต่างประเทศ 110,765 ราย

ดังนั้น การประกวด "เรือหางยาวกระบี่รักษ์อันดามัน" ในเทศกาลกระบี่เบิกฟ้าอันดามัน 2546 ภายใต้ความร่วมมือของ จังหวัดกระบี่ โรงแรมรายาวดี และชุมชนชาวกระบี่ ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจุดประกายให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยกระดับมาตรฐานการให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงสอดรับกับสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวและเชื่อมโยงประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง

นายวิเชียร พงศธร กรรมการบริหารโรงแรมรายาวดี ในฐานะผู้ริเริ่มการประกวดและเป็นผู้สนับสนุนหลักของการประกวดเรือหางยาวกระบี่รักษ์อันดามันในครั้งนี้เปิดเผยว่า "โรงแรมรายาวดี ตระหนักถึงหน้าที่ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานที่ดี ยกระดับการให้บริการด้านเรือหางยาวกับนักท่องเที่ยว การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเอกลักษณ์ของจังหวัดกระบี่ ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือของภาคเอกชน ที่จะมีต่อภาครัฐและชุมชน ที่จะร่วมแรงร่วมใจกันในการผลักดันให้กิจกรรมสร้างสรรค์ครั้งนี้เป็นที่กล่าวขาน และเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนอื่น ที่มีแหล่งท่องเที่ยวเป็นจุดแข็ง และเป็นปัจจัยสำคัญในการนำเงินตราเข้าประเทศ และหวังให้จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดนำร่องในการให้บริการเรือหางยาวที่ได้ มาตรฐานและมีคุณภาพ และจะเป็นการริเริ่มครั้งสำคัญในการรณรงค์ให้เกิดการหวงแหนและรักษา ธรรมชาติให้อยู่กับพวกเราชาวกระบี่อย่างยั่งยืนนาน"

ปรากฏการณ์ใหม่ของวงการประกวดเรือหางยาว เกิดขึ้นในช่วง เวลา 14.00 น. ของวันที่ 16 พฤศจิกายน 2546 ในงานเทศกาลกระบี่เบิกฟ้าอันดามัน เมื่อเรือหางยาวค่อยๆ ตีวงโค้งจากขอบฟ้าฝั่ง ตะวันออกเข้ามาเทียบท่า ณ ท่าเจ้าฟ้า แม่น้ำกระบี่ จุดที่ทางคณะทำงานได้จัดเตรียมไว้เป็นเวทีสำหรับประกวด "เรือหางยาวกระบี่รักษ์อันดามัน" เป็นที่มหัศจรรย์ของผู้ชมยิ่งนัก เสียงเครื่องยนต์ของเรือหางยาวซึ่งเคยเป็นที่กล่าวขานว่าดังสนั่นหวั่นไหวรบกวนบรรยากาศการท่องเที่ยว กลับเงียบเสมือนแล่นโดยปราศจากเครื่องยนต์ เสียงชื่นชม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ที่มีสำเนียงถิ่นใต้ สะท้อนถึงการตอบรับจาก ผู้ชมบนฝั่งได้เป็นอย่างดี

เรือหางยาวทั้งหมด 39 ลำ ที่ได้รับการคัดเลือก จากกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ เรือทุกลำต้องจดทะเบียน ถูกต้องตามกฎหมาย เรือต้องมีขนาด 21 กง ขึ้นไป ระดับความดังของเสียงต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล เมื่อเร่งเครื่องสูงสุด อีกทั้งเรือหางยาวที่จะนำมาใช้แข่งขันต้องเป็นเรือที่ให้บริการนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกระบี่เท่านั้น โดยเรือทั้งหมดมาจากในนาม สหกรณ์เรือหางยาวอ่าวนาง ชมรมเรือหางยาวอ่าวนาง และจากชมรมเรือหางยาวอ่าวน้ำเมา ทั้งนี้มีเรือที่เข้ามาเทียบท่าเพื่อรอการตัดสินทั้งสิ้น 35 ลำ ส่วนอีก 4 ลำ เดินทางมาไม่ทันเวลาที่กำหนดไว้ หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตัดสินซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ที่จะต้องให้คะแนนโดยตรวจวัด ความดังของเครื่องยนต์ ตรวจสภาพเรือและมรรยาทนายท้าย และสัมภาษณ์แนวคิดการตกแต่งเรือของแต่ละลำ สำหรับผลรางวัลที่ออกมา ปรากฎว่า เรือชื่อ "ปลาไหล" ผู้ขับเรือชื่อ นายอัสนัย แซ่เอี่ยว ได้รับรางวัลที่ 1 รับเงินสดห้าหมื่นบาท พร้อมถ้วยเกียรติยศ , รางวัลที่ 2 เรือชื่อ "สมปราถนา" ผู้ขับเรือชื่อ นายธีระศักดิ์ ห้าฝา รับเงินสดสามหมื่นบาทพร้อมโล่เกียรติยศ, รางวัลที่ 3 เรื่อชื่อ "ม้าน้ำ" ผู้ขับเรือชื่อ นายประกอบ สาโรจน์ รับเงินสดหนึ่งหมื่นห้าพันบาท พร้อมโล่เกียรติยศ และรางวัลชมเชยอีก 7 รางวัล มาจากชมรมอ่าวน้ำเมา และ ชมรมอ่าวนาง ได้แก่ เรือบ.สองพี่น้อง, เรือ ศ.สองพี่น้อง, เรือดูหยง, เรือปัทมา, เรือซันเซส, เรืออิสหาก, เรืออันดามัน ซันเซท รับเงินสดรางวัลละห้าพันบาท พร้อมประกาศนียบัตร และนอกเหนือจากรางวัลดังกล่าวนี้ เรือทุกลำที่ได้รับรางวัลดังรายงานข้างต้น จะได้รับธงเกียรติยศสีฟ้า จากสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขากระบี่ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการรับรองคุณภาพ และตอกย้ำให้รักษามาตรฐานอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการประกวดด้วย

เรือจากชมรมอ่าวนาง ได้รับรางวัล ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ด้วยแนวคิดเชิงลึกที่ถ่ายทอดออกมาเป็น ศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านในลวดลายอันสวยงาม และมีความหมาย "รูปหาดทรายทอดยาวสีขาว น้ำทะเล สีคราม และภูเขาสีเขียว แสดงถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดกระบี่ อาทิ ถ้ำพระนาง ไร่เลย์ ทะเลแหวก เขาขนาบน้ำ ล้อมรอบด้วยลวดลายไทยภาคใต้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างไทย มาลายู และ จีน ลวดลายเหล่านั้นได้วาดเป็นภาพของ พญานาค พญานกอินทรีย์ และพญามังกร โดย พญานาคเป็นสัญลักษณ์แทนวัฒนธรรมของไทย พญานกอินทรีย์เป็นสัญลักษณ์แทนวัฒนธรรมของมาลายู และพญามังกรสัญลักษณ์แทนวัฒนธรรมของจีน" นายสมบูรณ์ หง้าฝา ประธานชมรมเรือหางยาวอ่าวนาง

เผยถึงที่มาและแนวคิดของลวดลายดังกล่าว พร้อมกล่าวย้ำว่า "ผมขอพูดแทนผู้ประกอบการเรือหางยาว ทุกคนได้เลยว่า ทุกคนมีความสุข สนุกสนาน และดีใจที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญ กับเรือหางยาว ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากินของพวกเรา พวกเราทำเต็มที่ครับสำหรับกิจกรรมนี้ ไม่ได้หวังเงินรางวัล เพราะเรารู้ว่าผลที่จะเกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมนี้ ทั้งการกระตุ้นให้ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ธรรมชาติ การวัดระดับความดังของเสียงเครื่องยนต์ การตรวจสภาพความสะอาดของเรือ มรรยาทของนายท้าย เหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์กับพวกเราชาวเรือหางยาวทุกคนที่ให้บริการนักท่องเที่ยว ขอเป็นตัวแทนชาวเรือทุกคนขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ครับ"

ด้าน นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ในฐานะประธานคณะทำงานประกวดเรือหางยาวกระบี่รักษ์อันดามัน เปิดเผยว่า "การจัดงานสร้างสรรค์แบบนี้ เพิ่งจะเริ่มต้นเป็นครั้งแรก เราคณะทำงานต่างมุ่งหวังว่าจะเป็นการจุดประกายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มองเห็นภาพเดียวกัน คือ การพัฒนาคุณภาพและสร้างมาตรฐานที่ดีในการให้บริการนักท่องเที่ยวกระบี่ เมื่อทุกฝ่ายเห็นภาพเดียวกัน มีเป้าหมายร่วมกันแล้ว ก็จะช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อมุ่งสู่จุดหมายในการพัฒนาร่วมกัน โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นนั้นอาจจะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการช่วยดูแลและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเรือหางยาวรักษามาตรฐานคุณภาพ หรือช่วยผลักดันให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป" ขณะที่ทางด้าน นายธีรเทพ ศรียะพันธุ์ ปลัดจังหวัดกระบี่ ย้ำถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า "สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีกิจกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ในรูปแบบนี้เกิดขึ้นในจังหวัดของเรา การประกวดเรือหางยาวกระบี่รักษ์อันดามัน ในครั้งนี้ทำให้เทศกาลกระบี่เบิกฟ้าอันดามันในปีนี้ดูยิ่งใหญ่ น่าสนใจมากขึ้น

เรือหางยาวในจังหวัดกระบี่ คือ เอกลักษณ์ที่เราชาวกระบี่ภูมิใจและร่วมกันสืบสานให้เป็นที่รู้จัก โดยกิจกรรมครั้งนี้เป็นการพัฒนาเรือหางยาวของกระบี่ในเชิงสร้างสรรค์ มีคุณภาพอย่างยั่งยืน และมีผลต่อเศรษฐกิจที่ดีของกระบี่ในอนาคต ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำเสนอเรื่องการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ เทศกาลกระบี่เบิกฟ้าอันดามัน เข้าสู่แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดกระบี่เพื่อบูรณาการทำงานให้เกิดการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ และความกินดีอยู่ดีของประชาชน"

การจัดการประกวดเรือหางยาวกระบี่รักษ์อันดามันในครั้งนี้ เกิดคำถามว่า จะยั่งยืนได้อย่างไร ภาพที่เห็นและแนวคิดที่สะท้อนออกมาของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนชาวเรือหางยาว ซึ่งเป็นผู้รับผลประโยชน์ตรง เป็นคำตอบได้เป็นอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะการนำเสนอเข้าสู่แผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดกระบี่ ถือป็นรากแก้วสำคัญในการที่จะพัฒนาให้เรือหางยาวกระบี่มีคุณภาพได้อย่างยั่งยืนนาน

ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการฯ

อุมา พลอยบุตร์ โทร. 0 6909 1085, กมลวรรณ รักขพันธ์ โทร. 0 9478 3805--จบ--

-รก-