หลายหน่วยงานร่วมจัดกิจกรรมยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

27 Nov 2003

กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--กทม.

ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง เมื่อวันที่ 25 พ.ย.46 เวลา 09.30 น.ที่ผ่านมา นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนา “สู่สังคมที่ปราศจากความรุนแรง” เนื่องในวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2546 โดยมี คณะผู้บริหารกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.ธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครและสำนักงานเขต ดร.สุธีรา วิจิตรานนท์ นายกสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ และอาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังชุมชนเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี รวมจำนวน 1,100 คน ร่วมพิธี

สำนักกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร และสมาคม ส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2546 ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 25 พ.ย. ของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากลและให้ความสำคัญกับบทบาทของสตรี ซึ่งในประเทศไทยได้เพิ่มกลุ่มเป้าหมาย คือ “เด็ก” เข้ามาในการรณรงค์ด้วย นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้เดือนพฤศจิกายนเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” เพื่อมุ่ง “สู่สังคมที่ปราศจากความรุนแรง” เพื่อให้องค์กรต่างๆ เกิดความตระหนักในการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เนื่องจากสถานการณ์ของปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณและระดับการใช้ความรุนแรง และทั่วโลกได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการรณรงค์เพื่อยุติปัญหาดังกล่าว โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ช่วยกันผลักดันในการดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งการสนับสนุนให้มีศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤตจากความรุนแรง การเสนอร่างพระราชบัญญัติขจัดความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งการปรับเปลี่ยนเจตคติของสังคมที่ไม่ถูกต้องต่อปัญหาเด็กและสตรีโดยการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกในสังคม รวมทั้งการสร้างกระแสให้สังคมเกิดความตระหนักว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของครอบครัวใดเพียงครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของสังคมที่มีผลกระทบต่อชุมชนโดยรวม

สำหรับสัญลักษณ์เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี คือ “ริบบิ้นขาว” เริ่มขึ้นในประเทศแคนาดา โดยกลุ่มผู้ชายอาสาสมัครจำนวน 1,000,000 คน ที่มองเห็นถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงดังกล่าว และเรียกร้องให้ผู้ชายทั่วโลกร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และแสดงตนว่าจะไม่เป็นผู้กระทำรุนแรงหรือนิ่งเฉยต่อการใช้ความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ

นางณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีซึ่งถือเป็นปัญหาที่อยู่ในความเงียบ เพราะผู้ที่ตกอยู่ในสภาพปัญหาส่วนใหญ่ไม่กล้าจะออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือหรือขอความเป็นธรรม ทำให้เด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรงและต้องทนรับสภาพ และหลายรายถูกกระทำซ้ำโดยไม่มีใครช่วยเหลือ ทั้งนี้รูปแบบการใช้ความรุนแรงมีหลายรูปแบบ อาทิ การใช้ความรุนแรงต่อจิตใจ อารมณ์ ทางวาจา และความรุนแรงที่แสดงออกทางพฤติกรรมอื่นๆในส่วนของรุงเทพมหานครได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน สร้างเครือในการดูแลและส่งเสริมกิจการด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส โดยดำเนินการทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม อนามัย และจิตใจ เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และที่สำคัญกรุงเทพมหานครมีนโยบายที่ชัดเจนในการดูแล ส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และดำเนินการโครงการเพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองเพื่อนเด็ก โดยได้จัดตั้งศูนย์บริการด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสระดับเขตขึ้นพร้อมกัน 50 สำนักงานเขต โดยเน้นการทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ เป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดความตระหนักและความร่วมมือที่จะทำให้เกิดความรัก ความเข้าใจ ตลอดจนการดูแลแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ ถูกรังแก ถูกละเมิดทางเพศ เป็นต้น โดยจะมีเจ้าหน้าที่โครงการ ประกอบด้วย นักสังคมสงเคราะห์ และบุคลากรในการพัฒนา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุ และบริการครอบครัวในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัว ปัจจุบันมีอาสาสมัครชุมชนเฝ้าระวังการใช้ความรุนแรงทั้งสิ้น 2,819 คน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ โรงเรียน หน่วยงานภาคเอกชน และหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการช่วยเหลือ

สำหรับกิจกรรมภายในงานวันนี้ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง สู่ชุมชนที่ปราศจากความรุนแรง โดย นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การเสวนาเรื่อง “สุภาพบุรุษร่วมยุติความรุนแรง” และการร่วมเสวนาสู่สังคมที่ปราศจากความรุนแรง จากผู้แทนหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ศาลฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข และการมอบรางวัลแก่อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังชุมชนดีเด่นเพื่อเป็นกำลังในการทำงานและดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังคมต่อไป

อนึ่ง หากเด็กและสตรีประสบความรุนแรง สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือเร่งด่วน 24 ชั่วโมง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โทร. 1507, 1508 ศูนย์ฮอทไลน์สายด่วน 24 ชั่วโมง กทม. โทร. 0 2644 3344 หรือศูนย์กนิษฐ์นารี (บ้านพักฉุกเฉิน) โทร. 0 2929 2222--จบ--

-นห-