พม.จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2546 มุ่ง “สู่สังคมที่ปราศจากความรุนแรง”

27 Nov 2003

กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2546 “มุ่งสู่สังคมที่ปราศจากความรุนแรง” เพื่อให้องค์กรต่างๆ เกิดความตระหนักในการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เนื่องในวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล เมื่อเร็วๆนี้ ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนฯ(ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง โดยมีนายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิด

นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ตามที่สถานการณ์ของปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรีที่เกิดในปัจจุบัน ซึ่งได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณและระดับการใช้ความรุนแรง แม้แต่กระแสสากลทั่วโลกก็ให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการรณรงค์เพื่อยุติปัญหาดังกล่าว ซึ่งเห็นได้จากการที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น “วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล” ซึ่งในประเทศไทยนั้นได้เพิ่มกลุ่มเป้าหมายคือ “เด็ก” เข้ามาในการรณรงค์ด้วย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” ที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในหลายรูปแบบทั้งการสนับสนุนให้มีศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤตจากความรุนแรง การเสนอร่างพระราชบัญญัติขจัดความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งการปรับเปลี่ยนเจตคติของสังคมที่ไม่ถูกต้องต่อปัญหาเด็กและสตรี โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกในสังคม รวมทั้งการสร้างกระแสให้สังคมเกิดความตระหนักว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของครอบครัวใดเพียงครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของสังคมที่มีผลกระทบต่อชุมชนโดยรวม หนทางที่จะแก้ไขปัญหาคือเริ่มต้นจากตนเองก่อนว่าจะ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” กล่าวคือ นอกจากจะไม่กระทำรุนแรงต่อบุคคลอื่นแล้ว ยังมีหน้าที่ในการสอดส่องและให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรีในสังคมด้วย

นายสรอรรถ กล่าวต่อไปว่า การทำงานให้สังคมเกิดความตระหนักในปัญหาดังกล่าวจะอาศัย หน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหลายๆฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ทุกสาขาอาชีพ รวมทั้งสื่อสารมวลชนและบุคคลทั่วไปที่จะประสานการทำงานเป็นเครือข่าย โดยในวันเปิดงานจะมีกิจกรรมต่างๆ ทั้งภาคเช้าและบ่าย อาทิ การมอบรางวัลแก่ชุมชนอาสาสมัครต้านภัยความรุนแรงดีเด่น การแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สู่ชุมชนที่ปราศจากความรุนแรง” การเสวนาเรื่อง “สุภาพบุรุษร่วมยุติความรุนแรง” โดยผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายนรศักดิ์ รัตนเวโรจน์ (จอห์น นูโว) พรีเซนเตอร์รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2546 และนางยุพา เพ็ชรฤทธิ์

นายสรอรรถ กล่าวในตอนท้ายว่า หากผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้นำความรู้ประสบการณ์ที่ได้รับไปถ่ายทอดแก่บุคคลที่ไม่สามารถมาร่วมงานในวันนี้ได้ การรณรงค์ก็จะเริ่มต้นจากบุคคลเพียง 1 คน แล้วแพร่ขยายไปสู่บุคคลรอบข้าง สู่ครอบครัว สู่ชุมชน และไปสู่สังคม ในระดับกว้างต่อไป โดยหน่วยสังคมที่สำคัญที่สุด คือ ครอบครัว ถ้าครอบครัวปราศจากความรุนแรงแล้ว ในที่สุดก็จะนำไปสู่สังคมที่ปราศจากความรุนแรง ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้--จบ--

-สพ-