สนทนากับเลขาธิการ กบข. : ทางเลือกในการลงทุนเพิ่มเติม

01 Dec 2003

กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--กบข.

ปลายปี 2546 นี้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่เกษียณอายุแล้ว หรือยังรับราชการอยู่จะมีทางเลือกในการลงทุนใหม่เพิ่มเติมขึ้นอีก นั่นคือ กองทุนเปิดสินวัฒนา (ระหว่างนี้อยู่ในระหว่างการขอความเห็นชอบเพื่อใช้ชื่อกองทุนเปิดสินวัฒนา) ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) โดยมีธนาคารซิตี้แบงก์เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ ( Custodian) และ กบข. ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำนโยบายการลงทุนแก่ บลจ. กสิกรไทย จึงนับเป็นช่องทางเลือกใหม่ในการลงทุนสำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจวัยเกษียณ

ในการลงทุนทุกประเภทนั้น ขอให้ทุกท่านพิจารณาว่า การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยงควบคู่กับผลตอบแทนเสมอ ทั้งนี้ก่อนตัดสินใจลงทุนในเครื่องมือการลงทุนประเภทใด ๆ หรือแม้แต่การจะพิจารณาลงทุนในกองทุนเปิดสินวัฒนาก็ตาม ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนให้ละเอียดรอบคอบก่อน และหลังจากที่ท่านเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนแล้ว ต้องคอยติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ของกองทุนอยู่เสมอว่ากองทุนได้นำเงินของท่านไปลงทุนตามนโยบายที่วางไว้หรือไม่ และผลตอบแทนเป็นอย่างไร

หากสนใจข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนเปิดสินวัฒนา ให้ติดต่อไปที่ บลจ. กสิกรไทย โดยตรง ที่โทร. 0-2276-2233 ทั้งนี้กองทุนเปิดสินวัฒนา กำหนดระยะเวลาในการเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 22 -30 ธันวาคม ศกนี้

นอกจากนี้ อยากจะเรียนให้สมาชิก กบข. ทราบถึงการใช้สวัสดิการโครงการบ้าน ธอส. เพื่อสมาชิก กบข. ว่าหากท่านประสงค์จะใช้สวัสดิการเพื่อให้มีบ้านเป็นของตนเอง มีระยะเวลาการยื่นคำขอกู้สิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคมนี้เท่านั้น ซึ่งโครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มีผู้ใช้สวัสดิการนี้ไปแล้ว จำนวนกว่าสามหมื่นคน ซึ่งขอแสดงความยินดีด้วยกับท่านสมาชิก กบข. ที่ได้มีบ้านเป็นของตนเองรวมกันตั้งแต่โครงการแรกถึงโครงการปัจจุบันมากกว่าเจ็ดหมื่นคน นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ซึ่งการดำเนินการทุกอย่างของ กบข. ตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ คือเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงและความสุขในยามเกษียณอายุราชการของทุกคนนั่นเอง

เรื่องราวน่ารู้จาก กบข.

ลักษณะกองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น (Flexible portfolio fund)

เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนใน หรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์อื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนด หรือให้ความเห็นชอบให้กองทุนประเภทดังกล่าวลงทุนได้

ทั้งนี้การลงทุนในหรือมีไว้ ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นดังกล่าว ขึ้นกับการตัดสินใจลงทุนของผู้จัดการกองทุนรวมตามความเหมาะสมและสภาวการณ์ในแต่ละขณะ

เก็บมาฝากสมาชิก กบข.

อย่าผัดวันประกันพรุ่ง

ได้ฟังข้อมูลว่า อายุเฉลี่ยของคนเราถ้านับเป็นสัปดาห์มีเพียงไม่กี่พันสัปดาห์ ฟังแล้วคิดถึงตัวเองว่าตอนนี้เราอายุเท่าไหร่ แล้วเราจะเหลือชีวิตอีกกี่ร้อย กี่พัน หรือกี่สัปดาห์กัน เมื่อคิดแล้วคิดเลยไปว่า ยังมีอะไรที่ยังไม่ได้ลงมือทำอีก ก็ต้องรีบทำเสียตั้งแต่วันนี้ เพราะไม่ชอบให้สิ่งที่ตั้งใจจะทำแล้วคั่งค้างอยู่

แต่ถ้าคำตอบหลายคนบอกว่า ว่าจะเก็บเงินเพราะป่านนี้ยังไม่มีเงินเก็บเลย ก็ต้องคิดให้ดีแล้วว่า วันไหนกันหละที่จะเริ่ม ถ้ามัวแต่ ผัดวันประกันพรุ่งอยู่ก็จะไม่ได้ออมเงินเสียที

การผัดวันประกันพรุ่งหรือการเลื่อนในสิ่งที่ควรจะทำออกไปเรื่อยๆ นานๆ ไปก็จะเป็นการลืมและไม่ปฏิบัติในที่สุด เช่นเดียวกับการคิดที่จะออมและไม่ได้ออมสักทีเพราะเราจะคิดอยู่เสมอว่า การออม เพื่อสร้างอนาคตเก็บไว้ค่อยทำอีกสักพักก็ได้ แต่สักพัก นั้นก็ไม่มาถึงสักที พร้อมทั้งยังสร้างหนี้สินที่พอกพูนขึ้นทุกวัน

ดังนั้น ถ้าอยากจะหลุดพ้นจาก การกินอยู่อย่างเดือดร้อน อย่างน้อยจะต้องมีหลัก 4 ประการ ดังนี้ คือ

ข้อแรก จะต้องมีวิธีการมองโลกหรือเข้าใจโลกเสียใหม่ จะต้องเข้าใจว่าเงินเป็นได้ทั้งเพื่อนและศัตรู ถ้าเรามีเงินออม เงินก็จะเป็นเพื่อนเรา แต่ถ้าเรานำเงินไปใช้อย่างไม่เกิดประโยชน์ มันจะกลายเป็นศัตรูคอยทิ่มแทงเราให้ลำบากกาย เราจึงต้องมองโลกว่า ใช้ให้น้อยในวันนี้เพื่อชีวิตที่มั่นคงในวันหน้าและการหาความสุขของคนเรานั้น ไม่จำเป็นต้องมาจากการใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคแต่เพียงอย่างเดียว เพราะความสงบสุขแห่งจิตใจ ความเงียบจากกิเลส ก็สามารถให้สุขเราได้ดีกว่า

ข้อที่สอง คือ การยึดหลักการกินอยู่ให้ต่ำกว่าฐานะเสมอ โดยท่องให้ขึ้นใจว่า จงมีเกินใช้ แต่อย่าใช้เกินมี ความมัธยัสถ์ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ แต่เป็นการใช้เงินอย่างมีสติ และนำไปสู่การกินอยู่อย่างสบายในอนาคต

ข้อที่สาม คือ การสะสมความมั่งคั่งและสร้างรายได้เพิ่มเติมเสมอ โดยจะต้องยึดหลักให้เงินทำงานรับใช้เราด้วยการออมเงิน ข้อสุดท้าย การควบคุมความต้องการของตนเองให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะหากเรานั้นขาดวินัยในการใช้จ่าย การกินอยู่ต่ำกว่าฐานะก็จะไม่เกิดขึ้น และการออมก็จะไม่เกิดขึ้นมีแต่หนี้สินแทนด้วยซ้ำ จากที่กล่าวมาทั้งสี่หลักการ ถ้าเราสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เราก็จะเป็นคนที่กินอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน

ดังนั้น เราจะพบว่าผู้ที่กินอยู่อย่างเดือดร้อน ส่วนใหญ่คือคนที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามหลักทั้ง 4 ข้อ ข้างต้น โดยเฉพาะผู้ที่รู้ทั้งรู้แต่ยังไม่ยอมลงมือทำเสียที มัวแต่ผัดวันประกันพรุ่ง ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่สารพัดจะหามาสนับสนุนการจะไม่ลงมือทำได้

อะไรจะเกิดขึ้นกับคุณ ถ้าพบว่าพรุ่งนี้ก็สายเกินไปเสียแล้ว.

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2546

คอลัมน์ Financial Planing โดยคุณอมฤดา สุวรรณจินดา.

หากท่านมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ :-

ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิกโทร. 1179 กด 6 เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยตรง

หรือ email: [email protected]

หรือฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์กบข. ตู้ปณ. 19 ปณฝ. กระทรวงการคลัง กรุงเทพฯ 10411--จบ--

-รก-