กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--กทม.
นางนินนาท ชลิตานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การฝึกอบรมหลักสูตร นักบริหารระดับอาวุโสและหลักสูตรนักบริหารระดับกลางตลอดปีที่ผ่านมา (นบอ.19 นบก.32 และ นบก.33) ได้มุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถบูรณาการความรู้ ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ของนักบริหาร ที่ได้รับจากการฝึกอบรมมาประมวลเป็นผลงานรุ่นที่เป็นประโยชน์ต่องานในหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร เพื่อกรุงเทพมหานครจะได้นำรายงานของแต่ละรุ่นไปใช้ประโยชน์ได้อย่าง จริงจัง ซึ่งผลปรากฏว่าแต่ละรุ่นได้จัดทำรายงานเพื่อนำเสนอผลการศึกษาที่มีคุณค่า สรุปได้ดังนี้ ผู้เข้าอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับอาวุโส รุ่นที่19 (นบอ.19)ได้นำเสนอโครงการจัดตั้งศูนย์รับซื้อมูลฝอยคัดแยกแล้ว โดยใช้ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของประชาชนมา แก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด (ครัวเรือน) ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้าง มูลค่าของขยะมูลฝอย สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนแยกขยะมูลฝอย ก่อให้เกิดรายได้แล้ว ยังเป็นการช่วยลดปริมาณมูลฝอยที่จะต้องจัดเก็บไปทำลายลงในภาพรวมได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากดำเนินการได้ตามเป้าหมายเพียงร้อยละ 20 กรุงเทพมหานครก็จะสามารถประหยัดงบประมาณในการกำจัดขยะมูลฝอยได้ถึงปีละ 700 ล้านบาทเศษ
ส่วนผู้เข้าอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับกลาง รุ่นที่ 32 (นบก.32) นำเสนอเรื่องการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางน้ำ โดยกำหนดวิสัยทัศน์ว่า "ภายในปี พ.ศ.2546 แหล่งน้ำใน กทม. สะอาด ปราศจากมลพิษ โดยประชาชนมีส่วนร่วม" และกำหนดยุทธศาสตร์ 3 ประการ คือ ลดปริมาณน้ำเสียจากครัวเรือน อนุรักษ์แหล่งน้ำสาธารณะ และบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังได้นำเสนอโครงการนำร่องลดน้ำเสียในครัวเรือน และสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์แหล่งน้ำของชุมชนริมน้ำ ซึ่งหากบรรลุผลก็จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ขึ้นอีกมาก สำหรับ นบก.รุ่นที่ 33 นำเสนอเรื่องการพัฒนาระบบบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอาหารในตลาดกรุงเทพมหานคร การจัดระเบียบตลาด โดยเสนอวิสัยทัศน์ว่า "ตลาดในกรุงเทพมหานครเป็นแหล่งอาหารปลอดภัย มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลภายในปี พ.ศ.2547" และกำหนดยุทธศาสตร์การคัดเลือกอาหารที่ปลอดภัยเข้าสู่ตลาด ปรับปรุงสภาพแวดล้อมของตลาดและควบคุมตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP นอกจากนี้ยังได้เสนอแนะให้จัดกิจกรรมจัดระเบียบตลาดกรุงเทพมหานคร ภายใต้ชื่อ "วันรวมพลังหยุดยั้งมหันตภัยจากอาหารในตลาดกรุงเทพมหานคร" (Bangkok Clearing Market and Food Safety Day) ด้วย
รายงานการศึกษาทั้ง 3 ฉบับ ล้วนแต่เป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของนักบริหารกรุงเทพมหานครต่อปัญหาที่กรุงเทพมหานครเผชิญอยู่ และมีความตั้งใจที่จะพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครและวาระแห่งกรุงเทพมหานคร สถาบันฯ จึงได้นำเสนอปลัดกรุงเทพมหานครเพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปศึกษาความเป็นไปได้และขยายผลในการดำเนินการให้เกิดประโยชน์ต่อไป--จบ--
-นห-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit