กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--สมาคมสมองกลฝังตัวไทย
สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (Thai Embedded Systems Association: TESA) โดยนักพัฒนา เพื่อนักพัฒนา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และผู้พัฒนา ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดกิจกรรมเสวนา ภายใต้โครงการ TESA Tea Talk ครั้งที่ 4 ได้ประกาศความพร้อม วอนภาครัฐให้โอกาสนักพัฒนาไทย ได้แสดงฝีมือการวิจัยพัฒนาและผลิตบัตรสมาร์ทการ์ดขึ้นใช้เองภายในประเทศ
"ไทยมีความพร้อมที่จะผลิตไมโครชิปในประเทศได้จริง ทั้งนี้เนื่องจาก ระบบโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรมีความพร้อมจริง โดยขณะนี้ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) ก่อสร้างห้องสะอาดและระบบสนับสนุนการผลิตไมโครชิปเสร็จสมบูรณ์แล้ว และกำลังทำการติดตั้งเครื่องจักรการผลิตไมโครชิป และจะพร้อมทำการผลิตไมโครชิป เวเฟอร์ขนาด 6" และเทคโนโลยีระดับ 0.5 ไมครอนได้ในต้นปีหน้า
ส่วนสิ่งที่ต้องการเพิ่มเติมในการผลิตสมาร์ทการ์ดไมโครชิปในประเทศ คือ เทคโนโลยีการผลิตสมาร์ทการ์ดชิป กับเครื่องจักรเพิ่มเติมในกรณีที่ เทคโนโลยีของผู้ผลิตต่างประเทศต่างไปจากที่ TMEC มีอยู่ หรือใช้ขนาดของ เวเฟอร์ที่ใหญ่กว่า 6"
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลน่าจะมีนโยบายในการเริ่มใช้บัตรสมาร์ทการ์ดคือ การมีเงื่อนไขในการประกวดราคาจัดซื้อบัตรสมาร์ทการ์ดว่า ผู้เสนอขายบัตรสมาร์ทการ์ดต้องใช้ชิปจากบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทการ์ดชิปที่พร้อมจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ TMEC เพื่อทำการผลิตในประเทศ (หรือเข้ามาตั้งโรงงานทำการผลิตสมาร์ทการ์ดชิปในประเทศเองเลยก็ได้) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดรากฐานการผลิตไมโครชิปขึ้นในประเทศเพื่อดึงอุตสหกรรมใหญ่ชั้นสูงเข้ามาในประเทศ และ ขณะนี้มีบริษัทผู้ผลิตชิปสมาร์ทการ์ดที่แสดงความสนใจแล้ว 3-4 บริษัท ซึ่งเป็นผู้ผลิตสมาร์ทการ์ดชิปชั้นนำของโลก
ส่วนทางด้านเทคโนโลยีจะล้าหลังหรือ ดีเท่ากับท้องตลาดหรือไม่นั้นเนื่องจากการผลิตที่ TMEC จะเป็นการใช้เทคโนโลยีของผู้ผลิตชิปจากต่างประเทศ ดังนั้น หากรัฐบาลกำหนดสเปคอย่างไร การผลิตในประเทศที่ TMEC ก็จะเป็นไปตามเงื่อนไข นั่นคือสามารถผลิตสมาร์ทการ์ดชิปที่ทันสมัยได้ นั่นคือ สเปคของสมาร์ทการ์ดชิปผู้ใช้(รัฐบาล)เป็นผู้กำหนด TMEC ทำการผลิตตามเทคโนโลยีของผู้ชนะการประกวดราคา
พร้อมกันนี้ได้คำนวณราคาแล้วว่า สามารถทำการผลิตได้ในราคาที่แข่งขันได้คือ 65 บาท/ชิป (หากทำการผลิตโดยเครื่องจักร 6", 0.5 ไมครอนเทคโนโลยี) 72 บาท/ชิป (หากทำการผลิตโดยเครื่องจักร 8", 0.25 ไมครอนเทคโนโลยี) โดยสเปคของชิปคือ ROM 64KB, RAM 2KB, EEPROM 32KB ซึ่งสามารถรองรับ multi-application, JavaCard 2.1 ได้ และราคาดังกล่าวข้างต้น เป็นราคาคืนทุนใน 5 ปีและ สามารถแข่งขันได้ (หากไม่ต้องรวมค่าเสื่อม ราคาชิปจะถูกลงได้อีกประมาณ 35-40%)
ส่วนทางด้านสายการผลิตนั้น หลังจากที่ได้รับอนุมัติงบประมาณจาก ครม. (กำลังรอเข้าครม.เพื่อการอนุมัติ) ต้องใช้เวลาประมาณ 10-12 เดือนในการเริ่มผลิตในประเทศ ในการวางสายการผลิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตชิปจากต่างประเทศ ดังนั้นในระหว่างที่ยังไม่สามารถทำการผลิตได้ และรัฐบาลต้องการเริ่มใช้งานโดยเร็ว ผู้ชนะการประกวดราคา(ตามเงื่อนไขที่จะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย) จะซับพลายสมาร์ทการ์ดชิปจากโรงงานจากต่างประเทศ
สำหรับกำลังการผลิตของ TMEC นั้น จะสามารถผลิตได้ปีละ 10-12 ล้านชิ้น หากรัฐบาลต้องการใช้มากกว่านี้ในช่วง 2-3 ปีแรกก็ต้องมีการนำเข้ามาจากผู้ผลิตที่ชนะการประกวดราคา" ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาไมโคอิเล็กทรอนิกส์ กล่าว
นอกจากนี้ยังได้กล่าวย้ำอีกว่า "การพัฒนาและผลิตภายขึ้นใช้เองภายในประเทศ ต้องดีกว่าซื้อจากต่างประเทศมาใช้อย่างแน่นอน กล่าวคือ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้"
สมาร์ทการ์ดเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ การออกแบบและผลิตในประเทศจะเป็น national security ในระยะยาว ประหยัดเงินตราออกนอกประเทศ เป็นการเอาเทคโนโลยีเข้าประเทศ เกิดการจ้างงานบุคลากรระดับสูง สร้างฐานสำหรับอุตสาหกรรมไมโครชิปขึ้นในประเทศ ซึ่งจะเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เรามีคือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ ฯลฯ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ คือ อุตสาหกรรมการออกแบบไมโครชิป ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ฯลฯ
คุณมานพ ธรรมสิริอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด ได้กล่าวว่า "รัฐควรให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการออกแบบวงจรรวม(IC,ไมโครชิพ) เพราะว่าวงจรไมโครชิพ ถือว่าเป็นหัวใจของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้หากดูจากตัวเลขการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย จะเห็นได้ว่าในปี 2543 ไทยนำเข้าวงจรรวมและชิ้นส่วนมูลค่า 256,000 ล้านบาท (40%) แต่ส่งออกวงจรรวม 157,000 ล้านบาท (15%) ของการส่งออกทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มในระดับต่ำมากประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะมีส่วนร่วมในการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนระดับสูงน้อยมาก
สิ่งที่ประเทศไทยทำอยู่ในขณะนี้คือการ เน้นทำที่ปลายน้ำ ได้แก่ การประกอบและทดสอบเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจากภาครัฐ ทั้งๆ ที่ประเทศอื่นๆให้การสนับสนุนอย่างมาก พร้อมตัวอย่างความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เช่น เงินลงทุนในลักษณะ Venture Capital เงินสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนความช่วยเหลือทางด้านซอฟต์แวร์การออกแบบวงจร ซึ่งมีมูลค่าสูงมากในรูปแบบ Resources Pooling เป็นต้น
สำหรับผลงานการพัฒนาของบริษัท เช่น การพัฒนาไมโครชิพเพื่องานขึ้นทะเบียนปศุสัตว์ (Animal RFID), RFID Contactless Smart Card, Wireline Product/Data Network and Transmission, Data Converter และ Application Spacific Standard Products เป็นต้น"
"สำหรับความพร้อมในการเข้าร่วมออกแบบและพัฒนาในโครงการบัตรสมาร์ทการ์ดครั้งนี้ บริษัทขอย้ำว่ามีความพร้อม ทั้งนี้เนื่องจากมีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ และได้ผ่านการทดสอบผลงานทางด้านนี้มาเพียงพอ ระดับหนึ่งแล้ว ขอเพียงโอกาส และการสนับสนุนและส่งเสริมอย่างจริงจากหน่วยงานภาครัฐ ส่วนการออกแบบวงจรรวมนั้นทางทีมงานของบริษัทมีความพร้อมอย่างเต็มที่" คุณมานพ ธรรมสิริอนันต์ ได้กล่าวเพิ่มเติม
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม: ขนิษฐา ประสารสุข โทร:02-641-1960 หรือ 09-742-2506
email: [email protected]
สมาคมสมองกลฝังตัวไทย จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรที่ไม่ได้มุ่งผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจ แต่เพื่อสนับสนุนให้มีความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และผู้พัฒนา เพื่อร่วมกันพัฒนาและสร้างนวัตกรรม โดยอาศัยเทคโนโลยีทางด้านระบบสมองกลฝังตัวไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากร อันเป็นพื้นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนี้ให้มีความก้าวหน้าและทัดเทียมอารยประเทศ
สมาคมสมองกลฝังตัว (Thai Embedded Systems Association:TESA) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2545 โดยมีคณะกรรมการดังนี้
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์
นายกสมคมสมองกลฝังตัวไทย
คุณเบร์น ลี บาร์กแมน
อุปนายก
ผศ.อภิเนตร อูนากูล
เลขานุการ
รศ.ดร.ประภาส จงสถิตย์วัฒนา
กรรมการ
รศ.ดร.เอกชัย ลีลารัศมี
กรรมการ
ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์
กรรมการ
คุณสิทธิชาติ ศรีกังวาล
กรรมการ
คุณไกรวุฒิ โรจน์ประเสริฐสุด
กรรมการและประชาสัมพันธ์
คุณพรเทพ นฤหล้า
กรรมการและเหรัญญิก
คุณขนิษฐา ประสารสุข
กรรมการและทะเบียนสมาชิก
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อได้ที่ คุณขนิษฐา ประสารสุข
สมาคมสมองกลฝังตัวไทย ชั้น 26 อาคารซีพีทาวเวอร์ 2 ถ.รัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพฯ โทร: 02-641-1960
แฟกซ์:02-641-1597 email: [email protected] www.tesa.or.th--จบ--
-รก-