กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--กระทรวงอุตสาหกรรม
“พินิจ”ผลักดันเร่งเกิดโรงงานผลิตเอทานอล สร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ มั่นใจสามารถแก้ไขปัญหาราคาอ้อยและน้ำตาลตกต่ำ
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่าการเร่งส่งเสริมให้เกิดโรงงานผลิตเอทานอลเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาอ้อยตกต่ำซึ่งการประชุมร่วม 3 รัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2546
ที่ผ่านมาทำให้นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้อ้อยเพื่อการผลิตเอทานอลมีความ ชัดเจนมากขึ้นและเป็นหลักประกันความเสี่ยงทางด้านการลงทุนให้กับเอกชน
“ขณะนี้แนวทางการส่งเสริมการผลิตเอทานอลได้มีความชัดเจนในเรื่องของการนำเอทานอลไปใช้เพื่อผสมในน้ำมันเบนซินออกเทน 91 แล้ว โดยตั้งแต่ปัจจุบัน-ปี 2549 จะมีการใช้ถึง 1 ล้านตันต่อวันจากนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านลิตรต่อวันซึ่งจะสามารถรับปริมาณอ้อยที่ล้นตลาดได้นอกจากนี้ยังช่วยผลักดันให้ราคาอ้อยได้เพิ่มสูงขึ้นคุ้มกับต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อย “
ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแล้ว จำนวน 7 รายประกอบด้วย บริษัทพรวิไล อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป เทรดดิ้ง จำกัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องจักรจะผลิตเอทานอลได้ในเดือนตุลาคม 2547 จำนวน 25,000 ลิตรต่อวัน , บริษัทไทนอะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จะติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จและพร้อมผลิตในเดือนสิงหาคม 2547 จำนวน 150,000 ลิตรต่อวัน , บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แก๊สโซฮอล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะจัดตั้งโรงงานแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2547 มีกำลังการผลิต 500,000 ลิตรต่อวัน
บริษัท แสงโสม จำกัด ติดตั้งเครื่องจักรและผลิตได้ในเดือนมีนาคม 2547 มีขนาดผลิตไม่เกิน 100,000 ลิตรต่อวัน , บริษัทไทยง้วน เอทานอล จำกัด คาดว่าจะจัดตั้งโรงงานแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2547 มีกำลังการผลิต 130,000 ลิตรต่อวัน ,บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (บริษัท ขอนแก่นแอลกอฮอล์ จำกัด ) เป็นการต่อยอดจากโรงงานเดิม จัดตั้งโรงงานแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2547 มีกำลังการผลิต85,000 ลิตรต่อวัน และบริษัทไทยเนชั่นแนลพาวเวอร์ จำกัด คาดว่าจะจัดตั้งโรงงานแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2547 มีกำลังการผลิต 300,000 ลิตรต่อวัน นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการอีกประมาณ 15 รายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการเอทานอลเพื่อคัดเลือกและออกใบอนุญาตประกอบการให้ คาดว่าจะสรุปได้ในเร็วๆ นี้
นายพินิจกล่าวว่า แนวทางดังกล่าวเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาอ้อยตกต่ำในระยะยาว ซึ่งได้วางแนวทางไว้ดังนี้ กำหนดปริมาณอ้อยอยู่ที่ 65 ล้านตัน โดยมีพื้นที่ปลูกอ้อยต้องไม่เกินจากโรงงานน้ำตาล 100 กิโลเมตร ,สำรวจชาวไร่อ้อยที่ขึ้นทะเบียนที่แท้จริง หากมีการแจ้งเท็จจะดำเนินการขั้นเฉียบขาด โดยขึ้นบัญชีเป็นผู้มีอิทธิพล นอกจากนี้ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มปริมาณอ้อยต่อไร่รวมถึงเพิ่มปริมาณผลิตน้ำตาลจาก 98 กก.กรัมต่อ 1 ตันอ้อยเป็น 105 กก.ต่อ 1 ตันอ้อย และจัดตั้งคณะกรรมการปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เพื่อให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยโดยมีนายมนู เลี่ยวไพโรจน์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ราคาอ้อยปี 2546/2547ที่ตกต่ำนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่าในเร็วนี้จะสรุปได้ แต่ในเบื้องต้นยืนยันว่าชาวไร่อ้อยได้รับราคาอ้อยคุ้มกับต้นทุนการผลิตแน่นอน--จบ--
-รก-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit