ปตท. รับรางวัลหญ้าแฝกนานาชาติจากการฟื้นฟูแนวท่อก๊าซฯไทย-พม่า

16 Oct 2003

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--ปตท .

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณาผลงาน The Vetiver Network ของโลกได้มีมติตัดสินให้ผลงานการปลูกหญ้าแฝกเพื่อฟื้นฟูแนวท่อส่งก๊าซฯไทย-พม่าของ ปตท. ได้รับรางวัล The Vetiver Network Awards โดยได้รับรางวัลที่ 2 ในสาขา วิศวกรรม / การป้องกันโครงสร้างพื้นฐาน (Engineering / Infrastructure Protection) ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้เชิญ ปตท. จัดทำผลงานการใช้หญ้าแฝกในแนวท่อก๊าซธรรมชาติ เพื่อเข้าชิงรางวัล The Vetiver Network Awards ซึ่งมีหน่วยงานพิจารณาผลงานอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ปตท. จึงได้จัดทำรายงานความก้าวหน้าในการใช้หญ้าแฝกในแนวท่อฯ ภายใต้ชื่อผลงาน ?The Progress of The Use of Vetiver Grass System for Erosion control and Slope Stabilization along the Yadana Gas Pipeline Right-of-Way? และส่งผลงานไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 ที่ผ่านมา

สำหรับการรับรางวัลในครั้งนี้ ปตท. ได้เข้ารับรางวัลในงานสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติครั้งที่ 3 หรือ The Third International Conference And Exhibition On Vetiver เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 ณ มณฑลกวางเจา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และ ปตท. ได้นำเสนอผลงานแก่นักวิชาการและคณะกรรมการพัฒนาและรณรงค์การปลูกหญ้าแฝกร่วม 200 คน จาก 28 ประเทศ ในงานสัมมนาดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 นับเป็นอีกรางวัลหนึ่ง ที่ ปตท. ได้รับรางวัลจากผลงานการนำหญ้าแฝกมาใช้ โดยก่อนหน้านี้ ปตท. เคยได้รับพระราชทานรางวัล ?King of Thailand Vetiver Awards? ซึ่งจัดขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสครบรอบพระชนมายุครบ6 รอบ

ผลงานที่ได้รับรางวัลนี้ สืบเนื่องจากการก่อสร้างโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ แหล่งยาดานา ซึ่งแล้วเสร็จ เมื่อกลางปี 2541 และ ปตท. ได้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าหลังแนวท่อฯ โดยมีแนวความคิดในการดำเนินการ คือ ในช่วงเริ่มต้นสองปีแรก ดำเนินการป้องกันการชะล้างหน้าดินและรักษาความชุ่มชื้นให้คงอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง โดยใช้เทคนิควิธีด้านวิศวกรรมและเทคนิควิธีด้านพฤกษศาสตร์ผสมผสานเข้าด้วยกัน ด้านพฤกษศาสตร์ได้ใช้หญ้าแฝกในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและความเสี่ยงสูงมาก ปลูกยึดคันดินป้องกันการชะล้างหน้าดินและพร้อมทำหน้าที่รักษาความชุ่มชื้นของพื้นที่ให้คงอยู่ตลอดปี พืชท้องถิ่นเดิมจะเริ่มงอกและเติบโตเข้าแทนที่ ซึ่งจะเข้าทำหน้าที่ในการอนุรักษ์ดิน / ความชุ่มชื้น ตามสภาพธรรมชาติต่อไป จากการติดตามความก้าวหน้าของงานทุกปี จนถึงปัจจุบันตลอดแนวท่อฯ มีพืชท้องถิ่นเติบโตงอกงามเป็นระยะและขยายครอบคลุมพื้นที่

การใช้เทคนิควิธีด้วยการใช้ดินบรรจุกระสอบป่านวางเรียงเป็นคันดินและเจาะช่องปลูกหญ้าแฝก ตอกยึดกระสอบป่านด้วยไม้ปักชำ ทั้งหมด 7 ชนิด ได้ผลสำเร็จ กระสอบป่านสลายตัวภายใน 1 ปี ขณะที่หญ้าแฝกเติบโตรากยึดดิน กลายเป็นคันดินโดยธรรมชาติและไม้ปักชำก็เติบโตเป็นไม้ยืนต้นช่วยยึดดิน อนุรักษ์ดินและรักษาความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ ผลการนำเสนอผลงานเป็นที่ยอมรับในแนวคิดและผลปฏิบัติ หญ้าแฝกมีนัยสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันการชะล้างดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ และที่สำคัญหญ้าแฝกไม่ใช่วัชพืช จึงไม่ขยายลุกลามออกนอกพื้นที่ ทำหน้าที่หลักในช่วงเริ่มต้นและให้พืชท้องถิ่นทำหน้าที่โดยธรรมชาติต่อไป

นายประเสริฐฯ กล่าวว่า เป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงงานด้านหญ้าแฝก วิจัย / ทดลองอย่างต่อเนื่องเพื่อพสกนิกรชาวไทยทั้งมวล ปตท. จึงได้นำหญ้าแฝกมาใช้และดำเนินการตามผลการวิจัยทดลองของพระองค์ท่าน ทั้งด้านวิธีใช้ประโยชน์และการเลือกสายพันธุ์ และรวมทั้งการขอรับกล้าหญ้าแฝกมาปลูก จนส่งผลให้ประสบผลสำเร็จในการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับสภาพเดิม--จบ--

-สส-