กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--ศูนย์ปชส. กระทรวงคมนาคม
2. เรื่อง ยืนยันการทบทวนโครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์เพื่อขจัดคราบน้ำมัน ค้นหา ช่วยเหลือชีวิต และดับเพลิง และเรือฝึกนักเรียนเดินเรือพาณิชย์
ยืนยันการทบทวนโครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์เพื่อขจัดคราบน้ำมัน ค้นหา ช่วยเหลือชีวิต และดับเพลิง และเรือฝึกนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ สำหรับศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้
1. ชะลอการดำเนินโครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์เพื่อขจัดคราบน้ำมัน ค้นหา ช่วยเหลือชีวิต และดับเพลิง ขนาดไม่ต่ำกว่า 1,000 ตันกรอส จำนวน 1 ลำ ไว้ก่อนจนกว่าจะมีความจำเป็นจึงนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
2. ดำเนินการโครงการจัดหาเรือฝึกนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ สำหรับศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี ขนาดไม่เกิน 5,000 ตันกรอส จำนวน 1 ลำ และเครื่องมือฝึกจำลอง (Simulator) ในวงเงิน 1,650 ล้านบาท ต่อไป โดยขอรับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการแทนการใช้เงินกู้จากต่างประเทศ รวมทั้งขอขยายระยะเวลาดำเนินการจาก3 ปี เป็น 7 ปี (พ.ศ. 2543 - 2549) โดยให้กระทรวงคมนาคมหารือสำนักงบประมาณในการพิจารณาปรับงบประมาณในส่วนของกระทรวงคมนาคม สำหรับโครงการที่ไม่เร่งด่วนหรือมีความจำเป็นน้อย เพื่อจัดสรรเงินงบประมาณมาดำเนินโครงการจัดหาเรือฝึกฯ ต่อไป ทั้งนี้ ให้รับความเห็นและข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ไปพิจารณาดำเนินการปรับปรุงจัดทำข้อเสนอและรายละเอียดเหตุผลความจำเป็นเพิ่มเติม แล้วนำเสนอประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไปได้ โดยให้ปรับแผนการดำเนินงานและขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการจัดหาเรือฝึกฯ ตลอดจนดำเนินการทางด้านงบประมาณ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณที่จะให้มีการปรับแผนการดำเนินงาน โดยขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการจัดหาเรือฝึกฯ เป็นปีงบประมาณ 2547 - 2549 เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาในการจัดหา โดยมีค่าใช้จ่ายโครงการในวงเงินทั้งสิ้น 1,150,000,000 บาท โดยเสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 จำนวน 230,000,000 บาท และผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2549 อีกจำนวน 920,000,000 บาท
กระทรวงคมนาคมรายงานว่า ปัจจุบันกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีมีอยู่เพียง 1 ลำ (เรือวิสูตรสาคร) ซึ่งมีขีดจำกัดในการรองรับนักเรียนได้ครั้งละไม่เกิน 40 - 50 คน และมีอายุการใช้งานมาแล้วประมาณ 16 - 17 ปีตัวเรือรวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เสื่อมสภาพลง จำเป็นต้องได้รับการบำรุงรักษาและใช้เวลาในการซ่อมเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนเที่ยวในการฝึกได้อีก และหากไม่สามารถจัดหาเรือฝึกฯ เพิ่มเติม จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนการสอนและปัญหาความปลอดภัย ตลอดจนความเป็นอยู่บนเรือ ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อแผนการขยายการผลิตบุคลากรประจำเรือของศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีในอนาคต ทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนนักเรียนลงเรือฝึกฯ ได้อีก
ในการผลิตบุคลากรเรือ ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตร และการปฏิบัติหน้าที่บนเรือของคนประจำเรือ ค.ศ. 1995 (STCW1995) ทำให้จำเป็นต้องจัดหาเรือฝึกฯ ที่ดีมีมาตรฐานเหมาะสม หากไม่สามารถจัดหาเรือฝึกฯ เพิ่มเติม จะส่งผลต่อแผนการฝึกทางทะเลของศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีในระยะยาวด้วย
ขนาดของเรือ จากข้อสังเกตของ คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 7 (ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานฯ) ที่เห็นว่า การจัดหาเรือในลักษณะที่เป็นเรือฝึกกึ่งเรือสินค้า ขนาด 5,000 ตันกรอส อาจจะใหญ่เกินความจำเป็นและจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก กระทรวงคมนาคมจะสามารถปรับลดขนาดลงได้หรือไม่ นั้น กระทรวงคมนาคมพิจารณาทบทวนแล้วเห็นว่า ยังมีความจำเป็นต้องจัดหาเรือฝึกกึ่งเรือสินค้า ขนาด 5,000 ตันกรอสจำนวน 1 ลำ
แหล่งเงินและระยะเวลาดำเนินโครงการ กระทรวงคมนาคมเห็นสมควรใช้งบประมาณแผ่นดินแทนเงินกู้จากต่างประเทศ รวมทั้งขอขยายระยะเวลาดำเนินโครงการจาก 3 ปี เป็น 7 ปี (ปีงบประมาณ 2543 - 2549) เพื่อมิให้เป็นการเพิ่มภาระหนี้สินเงินกู้ของประเทศ โดยระยะเวลาที่ขอใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการคือ ปีงบประมาณ2547 - 2549 ในวงเงิน 1,650 ล้านบาท
(ยังมีต่อ)
-รก-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit