กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--ไอแอลโอ
ILO/MOL National Tripartite Seminar on Promoting the Tripartite Consultations (International Labour Standards) Convention, 1976 (No. 144)
องค์การแรงงานระหว่างประเทศร่วมกับกระทรวงแรงงานจะจัดการสัมมนาเรื่องการหารือไตรภาคีในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546 ณ ห้องประชุม 4 ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ โปรแกรมการประชุมแนบมาพร้อมกันนี้
การสัมมนาครั้งนี้จะเจาะเนื้อหาไปที่ อนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 144 เรื่อง การหารือไตรภาคี ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในการส่งเสริมให้มีกลไกการหารือทางสังคมภายในประเทศสมาชิกของไอแอลโอ การปฏิบัติตามอนุสัญญานี้จะช่วยเสริมให้ฝ่ายแรงงานและนายจ้างได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการจ้างงานได้มากขึ้น และที่สำคัญจะเป็นกลไกที่สำคัญในการประกันว่านโยบายของรัฐบาลนั้นจะมุ่งไปสู่การสร้างงานที่เป็นธรรม ตามความเหมาะสมของสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อันจะช่วยให้นโยบายเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้างด้วย
การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สามประการคือ (1) เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับการหารือไตรภาคีด้านมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศของหน่วยงานรัฐ องค์กรแรงงาน และองค์กรนายจ้าง (2) เพื่อหารือเกี่ยวกับประสบการณ์การหารือไตรภาคีในประเทศไทย และ (3) เพื่อหาแนวทางในการสร้างเสริมกลไกการหารือไตรภาคีต่างๆ ทั้งนี้ อนุสัญญาไอแอโอ 144 เป็นอนุสัญญาที่มีความสำคัญในระดับต้น ในขณะนี้ประเทศสมาชิกกว่า 110 ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันแล้ว เพื่อสร้างเสริมกระบวนการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วมและการสร้างงานที่มีคุณค่าในระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้มีมติสนับสนุนให้ทุกประเทศสมาชิกให้สัตยาบันต่ออนุสัญญานี้
ประเทศไทยได้มีการนำเอาหลักการการหารือไตรภาคีมาใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นแรงงานต่างๆ ขณะนี้มีคณะกรรมการไตรภาคี 16 ชุด ที่ดูแลในเรื่องต่างๆ เช่น แรงงานสัมพันธ์ ค่าจ้างขั้นต่ำ ประกันสังคม รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็นต้น
การสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์และสวัสดิการของนายจ้างและแรงงานเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่ระบบการค้าเสรี ประเทศไทยจะสามารถสร้างงานทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณให้กับกำลังแรงงานของประเทศได้อย่างไร จะมีวิธีการใดบ้างที่นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจะตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิตของแรงงานและนายจ้าง ในบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ภายในระบบเศรษฐกิจและแบบแผนการจ้างงาน กลไกการหารือทางสังคมเพื่อเจรจาสร้างและคุ้มครองสิทธิแรงงานจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
นับแต่เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ใน ค.ศ. 1919 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาไอแอลโอไปแล้ว 13 ฉบับ และในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กลับมาให้ความสนใจที่จะให้สัตยาบันอีกครั้ง โดยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา 100 ว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่าเทียมในงานที่เท่าเทียม ในปี ค.ศ. 1999 และต่ออนุสัญญา 182 ว่าด้วยแรงงานเด็กรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ในปี ค.ศ. 2001.
ผู้สื่อข่าวสามารถเข้าสังเกตการณ์ได้ตลอดรายการ
ถ้าท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
Manida Pongsirirak, Communications and Public Information Assistant
Telephone + (662) 288-2202, Fax + (662) 288-1076
E-mail: [email protected]จบ--
-รก-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit