กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์
สาธุคุณเจสซี แจ็คสัน ให้เกียรติเปิดงาน "สานสัมพันธ์สู่สันติวัฒนธรรม" เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2546 นี้ ที่กรุงเทพฯผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ฟิสิกส์ เคมี การแพทย์ และวรรณกรรม 24 คน จะทยอยมาร่วมกิจกรรมต่างๆ ระหว่าง พฤศจิกายน 2546 - เมษายน 2547 เพื่อร่วมสร้างสันติวัฒนธรรม
มูลนิธิสันติภาพนานาชาติ ซึ่งเป็นมูลนิธิอิสระไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์ของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 21 คน ริเริ่มจัดงาน "สานสัมพันธ์สู่สันติวัฒนธรรม" ขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ "ทศวรรษแห่งสันติวัฒนธรรมและสันติวิธี" ตามมติของสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติเมื่อปี พ.ศ. 2543 โดยได้เลือกจัดงานดังกล่าวขึ้นในประเทศไทย
มร. อูเวอ มอราเวทซ์ ประธานมูลนิธิสันติภาพนานาชาติกล่าวถึงเหตุผลในการเลือกประเทศไทย ในการจัดงานครั้งนี้ว่า "คนไทยและประเทศไทยมีศักยภาพในการสร้างสรรค์สันติภาพและนำเสนอแบบอย่างในการป้องกัน ไกล่เกลี่ย และแก้ไขความขัดแย้ง เพราะคนไทยมีความมั่นใจ ใจกว้าง และขันติธรรม นอกจากนี้ด้วยพระปรีชาสามารถและความเป็นผู้นำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงเป็นตัวอย่างแห่งสันติทั้งภายในและภายนอก ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพสูง ในการเชิดชูสันติภาพและสร้างความมั่นคงให้แก่ภูมิภาค อีกทั้งประเทศไทยยังมีเครือข่ายการทำงานที่ดีเยี่ยมขององค์กรทั้งในและระหว่างประเทศ รวมถึงธุรกิจเอกชน วงการทูต สื่อมวลชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งเป็นฐานในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม"
งาน "สานสัมพันธ์สู่สันติวัฒนธรรม" จะเปิดตัวด้วยการปาฐกถาโดย สาธุคุณเจสซี แอล แจ็คสัน ประธานและผู้ก่อตั้งองค์กรความร่วมมือเรนโบว์/พุช (Rainbow/Push Coalition) ในวันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน 2546 เวลา 14.00 น. ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ในหัวข้อ "สหรัฐหลังสงครามอิรัก - สหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดสันติภาพได้หรือไม่" สาธุคุณเจสซี แจ็คสัน ได้เริ่มต้นชีวิตงานโดยการเป็นผู้ช่วย ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ หลังจากนั้นได้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2 ครั้ง และเป็นอดีตวุฒิสมาชิกจากวอชิงตัน ดีซี
ตามโครงการดังกล่าว จะมีการจัดการบรรยายทางวิชาการ การสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการแสดง มากกว่า 200 รายการ ทั้งที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่และขอนแก่น ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2546 ถึงเดือนเมษายน 2547 และระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2547 ถึงเดือนเมษายน 2548 โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) มูลนิธิโอเปรากรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนศิลปะการแสดงแด๊นซ์เซ็นเตอร์ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ฟอรัมเอเชีย สถาบันเกอเธ่ (กรุงเทพฯ) สถาบันพระปกเกล้าฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การยูเนสโก
ในระหว่างเวลา 1 ปี ดังกล่าว ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ฟิสิกส์ เคมี การแพทย์และวรรณกรรม ตลอดจนผู้นำระหว่างประเทศในด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และสื่อมวลชน จะร่วมมือกับผู้นำของไทยจากแวดวงต่าง ๆ เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ
งาน "สานสัมพันธ์สู่สันติวัฒนธรรม" นี้เป็นงานแรกในประเทศไทยที่มีผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ มาร่วมงานมากที่สุด
หัวข้อของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จัดขึ้นตามโครงการดังกล่าวมีความหลากหลาย ครอบคลุมจากเรื่อง "สุขภาพจำเป็นต่อสันติสุขและสันติสุขจำเป็นต่อสุขภาพ" "มลภาวะทางอากาศในเอเชียและผลกระทบต่อภูมิอากาศในภูมิภาคและในโลก" "เทคโนโลยีเลเซอร์กับสงครามและสันติภาพ" "การแก้ไขความขัดแย้งและการแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรมในกรณีการล้างเผ่าพันธุ์" "ความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจเอกชนกับการค้าชุมชน" "พลังงานในอนาคต - การแปลงพลังงานแสงอาทิตย์" และ "ศาสนธรรมมุสลิมในประเทศที่ไม่ใช่อาหรับ" เป็นต้น หัวข้อที่หลากหลายเหล่านี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางดำเนินงานของมูลนิธิสันติภาพนานาชาติในแบบสหสาขาและพหุนิยมเพื่อนำไปสู่สันติวัฒนธรรม
ผู้บรรยายที่สำคัญของงาน "สานสัมพันธ์สู่สันติวัฒนธรรม" ได้แก่ ศาสตราจารย์ ลอร์ด ดาห์เรนดอร์ฟ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ลอนดอน ดร. คาราน ซิงห์ อดีตมหาราชาแห่งแคว้นจามมูและแคชเมียร์ ศาสตราจารย์ โฮเซ ราโมส ฮอร์ตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือแห่งติมอร์ตะวันออก มร. กาเรธ เอแวนส์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลีย มาดามแอนนิตา รอดดิค ผู้ก่อตั้งบริษัท เดอะ บอดี้ ชอป และเซอร์ วิเดีย เอส ไนพอล ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เป็นต้น
นอกเหนือจากกิจกรรมซึ่งเปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้ามีส่วนร่วมดังกล่าวแล้ว มูลนิธิเพื่อสันติภาพนานาชาติจะเชิญศิลปินผู้มีชื่อเสียงระดับโลก 3 ท่านมาเปิดการแสดงในประเทศไทยเป็นครั้งแรกอีกด้วย ได้แก่ วันที่ 14 มกราคม 2547 ศาสตราจารย์มาร์เซีย ไฮเด ผู้กำกับคณะบัลเลต์สตุ๊ทการ์ทและบัลเลต์ซานติอาโก เดอ ชิลี และอิสมาเอล อีโว หนึ่งในนักเต้นรำแนวร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงเชื้อสายแอฟริกันบราซิลเลียน จะเปิดการแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทยพร้อมด้วยนักเต้นรำชาวไทยจำนวน 25 คน ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และในวันที่ 24 เมษายน 2547 ณ หอประชุมใหญ่แห่งเดียวกันนี้ เจสซี นอร์แมน นักร้องโอเปราและคอนเสิร์ตที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคนหนึ่งจะเปิดการแสดงดนตรีเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
เจ้าชายอัลเฟรดแห่งลิคเตนสไตน์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาของมูลนิธิสันติภาพนานาชาติ (เวียนนา) พร้อมพระชายาเจ้าหญิงราฟาเอลลาแห่งลิคเตนสไตน์ ซึ่งเคยเสด็จเยือนกรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ เมื่อต้นปีนี้ จะเสด็จเยือนประเทศไทยอีกวาระหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน เพื่อทรงเป็นประธานในกิจกรรมต่าง ๆ และส่งเสริมสันติภาพร่วมกับนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายไทยของงาน "สานสัมพันธ์สู่สันติวัฒนธรรม" และกรรมการท่านอื่น ๆ อาทิเช่น นายบัณฑูร ล่ำซำ ดร. โคทม อารียา นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต นายสมชาย หอมลออ และพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
มูลนิธิฯ สามารถจัดกิจกรรมเหล่านี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยการสนับสนุนจาก สายการบินออสเตรียแอร์ไลน์ โรงแรมดุสิตธานี ธนาคารกสิกรไทย บริษัท โอกิลวี่ เอเชียแปซิฟิก บริษัท ยูโนแคล สายการบินอเมริกันแอร์ไลน์
สายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิก บริษัท เดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท โตชิบา (ประเทศไทย) จำกัด โดยผู้บรรยายและศิลปินผู้ร่วมงานทุกคนล้วนเป็นอาสาสมัครที่ไม่ได้รับค่าธรรมเนียม หรือค่าตอบแทนใด ๆ
รายละเอียดเพิ่มเติม
:
ถนิมพร สรรค์ศิริชัย ([email protected])
บริษัท โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์ จำกัด
โทร. 0 2632 8300-7 ต่อ 42
หรือที่เว็บไซต์:
www.peace-foundation.net--จบ--
-นห-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit