ผลการสำรวจโรคอีดีในชายไทยครั้งล่าสุดพบเป็นโรค 3.5 ล้านคน ภาคกลางครองแชมป์ 48%

21 Jan 2004

กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส

ผลการศึกษาล่าสุด พบชายไทยเป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศสูงถึง 3.5 ล้านคน ภาคกลางครองแชมป์สูงสุด 48% คนผอมมากจะเป็นมากกว่าคนอ้วนขณะที่ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ - เบาหวานมีโอกาสเป็นในระดับรุนแรงถึงสูงสุด ผู้ชายกล้าเปิดใจปรึกษาภรรยา หรือคู่นอนมากขึ้น 40%

ผลการศึกษาระบาดวิทยาของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (โรคอีดี) ของชายไทยครั้งล่าสุด ในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งดำเนินการโดยสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ (ประเทศไทย) ได้รับการสนับสนุนจาก 5 บริษัทเวชภัณฑ์ผู้ผลิตและจำหน่ายยารักษาโรคอีดีในประเทศไทย ประกอบด้วย ไฟเซอร์, แกล็กโซสมิธไคล์น, อีไล ลิลลี่, แอ๊บบอต และ ทาเคดา โดยทำการสำรวจในชายไทยที่มีอายุระหว่าง 40 - 70 ปี จำนวน 2,269 ราย ใน 13 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน พิษณุโลก ชลบุรี ลพบุรี จันทบุรี นครราชสีมา นครพนม อำนาจเจริญ สงขลา นราธิวาส กระบี่ และกรุงเทพมหานคร พบว่า ผลที่เป็นคำตอบด้านอัตราความชุกชุมของโรคอีดีอยู่ที่ 42% หรือประมาณการณ์ว่ามีชายไทยป่วยเป็นอีดี 3.5 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าผลการศึกษาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 อยู่ที่ 37.5% หรือประมาณ 3 ล้านคน

การสำรวจพบว่าอัตราความชุกของโรคอีดีภาคกลางสูงสุดอยู่ที่ 48% ภาคเหนือจะมีน้อยที่สุดอยู่ที่ 36% ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาครั้งแรกที่พบสูงสุดในภาคเหนือคือ 45.6% ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และ กทม. อัตราความชุกของโรค จะอยู่ที่ 43 %, 41% และ 42% ตามลำดับ

รศ.นพ. อภิชาติ กงกะนันทน์ นายกสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ 5 บริษัทยาจำหน่ายยาอีดีได้ร่วมสนับสนุนให้มีการสำรวจ ซึ่งเป็นการศึกษาขนาดใหญ่ที่สุดของโรคอีดีในประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกับผลการศึกษาครั้งแรกเมื่อปี 2542 เพื่อประโยชน์ทั้งในการศึกษาเชิงเปรียบเทียบกับต่างประเทศ และเป็นแนวทางในการสร้าง ยุทธศาสตร์ในการบำบัดรักษาโรคอีดีต่อไป

"แม้จะพบว่าจำนวนผู้ป่วยอีดีในชายไทยเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับ 4 ปีที่แล้ว แต่การศึกษาครั้งนี้ก็พบข้อมูลที่น่ายินดีในแง่ของการรักษา โดยพบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคอีดีทั่วประเทศที่มารักษากับแพทย์เพิ่มสูงขึ้นเป็น 3% จากเดิมที่มีน้อยกว่า 1% ซึ่งในทางการแพทย์ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจมาก เพราะที่ผ่านมาอุปสรรคสูงสุดของการรักษาผู้ป่วยอีดีก็คือ ผู้ป่วยไม่ยอมรับและไม่กล้ามาพบแพทย์

นอกจากนี้ ยังพบว่า จำนวนผู้ที่เป็นอีดีแล้วไม่ยอมปรึกษาใครนั้นจะมีอัตราลดลงเป็น 32% จากผลการศึกษาเดิมอยู่ที่ 41% และพบว่าผู้ป่วยอีดีที่ต้องการคำปรึกษา ส่วนใหญ่จะปรึกษาภรรยาหรือคู่นอนมากที่สุด คือ 38-40% เพิ่มสูงขึ้นจากการศึกษาครั้งแรกที่มีเพียง 13% แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันครอบครัวไทยเปิดใจยอมรับและตื่นตัวที่จะรักษากันมากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการรณรงค์เผยแพร่ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคอีดีตลอด 5 ปีที่ผ่านมาของศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชายและองค์กรแพทย์ ทำให้วงการสาธารณสุขและผู้เป็นโรคอีดีมีความตระหนักมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมรณรงค์ให้มากขึ้น เพราะโรคนี้ยังค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทย โดยในการศึกษานี้พบว่ามีเพียง 49% เท่านั้นที่ตอบว่าโรคอีดีสามารถรักษาให้หายได้ ในขณะที่ 44% ตอบว่าไม่แน่ใจ และ 6-7% ระบุว่ารักษาไม่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้" รศ.นพ.อภิชาติ กล่าว

รศ.ดร. เอนก หิรัญรักษ์ นักวิจัยอาวุโสและผู้อำนวยการโครงการ UNINET POLL หัวหน้าโครงการ วิจัยครั้งนี้ เปิดเผยว่า การศึกษาครั้งนี้พบว่า ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอีดีจะสอดคล้องกับการศึกษาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 เช่น ในเรื่องของอายุ พบว่าผู้ชายที่มีอายุมากขึ้นจะมีโอกาสโรคอีดีเพิ่มขึ้นด้วย อายุ 40 - 49 ปี พบ 23.39% อายุ 50 - 59 ปี พบ 47.79% และ 60 - 70 ปี พบสูงถึง 76.95% รวมทั้งผู้มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวานและโรคหัวใจ ก็ยังถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการ เกิดโรคอีดีในระดับ 3 (ระยะรุนแรง) โดยโรคหัวใจพบสูงถึง 71.74% (ระดับ 3ที่ 32.61%) และโรค เบาหวาน 70.09% (ระดับ 3 ที่ 30.37%) ขณะเดียวกัน โรคเครียดก็มีบทบาทต่อโรคอีดีเช่นกัน โดยผู้เครียดมากจะมีโอกาสเป็นโรคอีดีสูงกว่าผู้ที่ไม่เครียดคือ 64.92% และ 38.51% ตามลำดับ ขณะที่คนผอมมากจะมีอัตราการเป็นโรคอีดีมากกว่าคนปกติหรือคนอ้วนโดยพบ 53.7% ส่วนคนปกติ ค่อนข้างอ้วน หรือ อ้วน จะมีอัตราการเป็นโรคอีดีใกล้เคียงกันคือ 42.18% , 41.20% และ 42.57% ตามลำดับ

"นอกจากนี้ยังพบเป็นที่แน่ชัดว่า โรคอีดีมีผลต่อจำนวนความถี่ของการประกอบกิจกรรมเพศสัมพันธ์ ผู้ที่ไม่เป็นโรคอีดี อายุ 40-49 ปี ก็จะมีเพศสัมพันธ์เฉลี่ย 7 ครั้งต่อเดือน อายุ 50-59 ปี จะมีเฉลี่ย 5 ครั้งต่อเดือน และ 60-70 ปี เฉลี่ย 3 ครั้งต่อเดือน แต่จำนวนครั้งของการมีเพศสัมพันธ์นี้จะลดลงเรื่อยๆ เมื่ออาการของอีดีอยู่ในระดับที่สูงขึ้น" รศ.ดร. เอนก กล่าวสรุป

การศึกษาทางระบาดวิทยาโรคอีดีในชายไทยในครั้งนี้ สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ (ประเทศไทย) ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัทเวชภัณฑ์ผู้ผลิตและจำหน่ายยารักษาโรคอีดีในประเทศไทย 5 ราย คือ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายยารักษาโรคอีดีชนิดรับประทานรายแรกของโลก, บริษัท แกล็กโซสมิธไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายยารักษาโรคอีดีชนิดรับประทาน, บริษัท อีไล ลิลลี่ เอเชีย อิงค์ (สาขาประเทศไทย) ผู้ผลิตยารักษาโรคอีดีชนิดรับประทาน, บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตยารักษาโรคอีดีชนิดอมใต้ลิ้น

การศึกษาครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ในประเทศไทย โดยได้มีการศึกษาสำรวจในลักษณะเดียวกันนี้ เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2542 โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ และโรคต่อมไร้ท่อที่ให้คำปรึกษาและอบรมให้ความรู้เรื่องโรคอีดีแก่วงการแพทย์ (Erectile Dysfunction advisory Council and Training of Thailand : EDACTT) และบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : คุณบุษบา สุขบัติ

คุณกุนธิรา ณัฐวัฒนานนท์

บริษัท พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส จำกัด

โทร. 02-6518989 ต่อ 222 , 223

e-mail : [email protected]จบ--

-รก-